ไม่พบผลการค้นหา
ปลัดมหาดไทยแจงยอดลงทะเบียน 1.47 แสนราย ไกล่เกลี่ยได้ 1.7 หมื่นราย ยอดหนี้นอกระบบรวมกว่า 10,705 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยแล้วมูลหนี้ลดลง 737 ล้าน ยังติดขัด 'แก๊งหมวกกันน็อค' ชาวบ้านไม่รู้ชื่อเจ้าหนี้ เตรียมส่ง ตร.ตามต่อ

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (25 ก.พ.2567) สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียนพบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 147,350 ราย มูลหนี้รวม 10,705.403 ล้านบาท

  • ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 122,362 ราย 
  • ลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 24,988 ราย 
  • รวมจำนวนเจ้าหนี้ 118,672 ราย 

จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ 

1. กรุงเทพมหานคร ผู้ลงทะเบียน 11,215 ราย เจ้าหนี้ 8,584 ราย มูลหนี้ 963.896 ล้านบาท 

2. นครศรีธรรมราช ผู้ลงทะเบียน 5,937 ราย เจ้าหนี้ 5,646 ราย มูลหนี้ 406.707 ล้านบาท 

3. สงขลา ผู้ลงทะเบียน 5,426 ราย เจ้าหนี้ 4,416 ราย มูลหนี้ 358.398 ล้านบาท 

4. นครราชสีมา ผู้ลงทะเบียน 5,129 ราย เจ้าหนี้ 4,244 ราย มูลหนี้ 449.251 ล้านบาท

5. สุรินทร์ ผู้ลงทะเบียน 4,099 ราย เจ้าหนี้ 3,020 ราย มูลหนี้ 380.517 ล้านบาท 

สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 27,165 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 17,249 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,459.473 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,722.290 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 737.183 ล้านบาท 

จังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,337 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 482 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 283.820 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 50.247 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 233.572 ล้านบาท 

สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ ดำเนินคดีไปแล้ว 288 คดี ใน 40 จังหวัด

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาล 

“ในส่วนของการนำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ปัจจุบันมีประชาชนที่มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบบางส่วนที่ไม่สามารถให้ข้อมูลของเจ้าหนี้นอกระบบได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้การติดตามเพื่อเชิญมาไกล่เกลี่ยหนี้ได้ยาก ซึ่งเราพบว่า เป็นพวกปล่อยเงินกู้นอกระบบมืออาชีพ มีลูกน้องที่เรียกว่าแก๊งหมวกกันน็อค ไปปล่อยเงินกู้ตามตลาดตามชุมชน ทำให้ชาวบ้านทราบเพียงชื่อเล่นของเจ้าหนี้ ซึ่งใช้วิธีการทวงหนี้แบบเดินเก็บตามตลาดหรือในที่ที่ลูกหนี้ทำมาหากินอยู่ ในส่วนนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้ส่งข้อมูลรายละเอียดของเจ้าหนี้นอกระบบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน หาทางจับกุมต่อไป เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการปล่อยกู้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเก็บดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมถึงได้ส่งข้อมูลการทวงหนี้แบบใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่คุกคาม ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งสำหรับการดำเนินการไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหมายถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ครบ 100% ตามเป้าหมาย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ทั้งนี้ ภาครัฐจะเปิดให้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง