ไม่พบผลการค้นหา
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ องค์กรด้านสิทธิมนุยชนระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทางการไทยควรบังคับใช้กฎหมายใหม่ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน ซึ่งห้ามไม่ให้มีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังเมียนมาและประเทศอื่นๆ ที่พวกเขาอาจเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกทรมานอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ราชกกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยกฎหมายฉบับนี้ประกอบไปด้วยบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหลักการไม่ส่งกลับ(non-refoulement) ซึ่งห้ามไม่ให้รัฐบังคับส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่พวกเขามีความเสี่ยงต่อการถูกทรมาน หรือเผชิญการกระทำที่โหดร้ายอื่น ๆ

“กฎหมายใหม่ฉบับนี้มีผลให้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเมียนมาที่ซึ่งรัฐบาลทหารได้ทำการทรมานประชาชนอย่างเป็นระบบ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย” 

“ทางการไทยควรดำเนินการโดยทันทีเพื่อจำแนกและให้การรับรองสถานะทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเพื่อป้องกันการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

ทั้งนี้ มาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฉบับใหม่นี้กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับหรือเนรเทศบุคคลไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย”

กฎหมายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ภายหลัง 120 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่า นับแต่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาได้ทำการทรมานต่อพลเรือนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มหลายหมื่นคนโดยหลายคนเดินทางมาแสวงหาความคุ้มครองในประเทศไทย 

ในเดือนมีนาคม 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และ Schell Center for International Human Rights คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ได้ตีพิมพ์รายงาน 193 หน้าชื่อ 'ไม่มีที่ใดปลอดภัย : การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติของรัฐบาลทหารเมียนมา ภายหลังรัฐประหาร' ซึ่งบันทึกหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลทหารเมียนมากระทำการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ

รายงานนี้ยังรวบรวมคำสัมภาษณ์ของผู้เสียหายและประจักษ์พยานจากการทรมาน และวิเคราะห์หลักฐานเพิ่มเติม รวมทั้งคลิปวีดิโอของการทรมาน รัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งกองกำลังทหารและตำรวจใช้การทรมานทั้งการทุบตีอย่างรุนแรงต่อผู้ถูกควบคุมตัวทั่วร่างกาย ทำให้กระดูกหัก มีการใช้กระสุนยางยิงใส่พลเรือนในระยะประชิด การเฆี่ยนตีด้วยสายไฟและสายเคเบิล การบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวให้ไม่ได้รับอาหาร น้ำ และนอน การบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวต้องอยู่ใน “ท่วงท่าที่เมื่อยล้า” และการบังคับให้นั่งในเก้าอี้เป็นเวลาหลายวัน และการทำร้ายทางเพศ และการขู่ว่าจะข่มขืน การจับกุมโดยพลการของรัฐบาลทหารมักเกิดขึ้นพร้อมกับการทุบตีบนท้องถนน ซึ่งถือเป็นการทรมานอย่างหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ฟอร์ตี้ฟายไรต์บันทึกข้อมูลการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยจากประเทศไทย รวมทั้งการทำลายสะพานข้ามพรมแดน ซึ่งผู้ลี้ภัยจากเมียนมาใช้หลบหนีจากการโจมตีที่เป็นอันตรายถึงชีวิตในภาคตะวันออกของเมียนมาในเดือนมีนาคม 2565 ในเดือนพฤษภาคม 2564 เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานประจำจังหวัดของไทยท่านหนึ่งยังยืนยันกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า ทางการไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 2,000คนไปเมียนมา ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของรัฐบาล

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังบันทึกข้อมูลที่ทางการไทยผลักดันกลับเรือที่ขนผู้โดยสารที่เชื่อว่าเป็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ตามนโยบายอันอื้อฉาวเกี่ยวกับ “การช่วยเหลือเพื่อส่งต่อ” (help-on) หรือ “การผลักดันออก” (push-back) ของประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในวันที่ 30 ก.ย.2565 แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือยังระบุด้วยว่าทางการไทยได้ผลักดันกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงกลับไปเมียนมา ทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะโดนระเบิด การโจมตีทางอากาศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างอื่นรวมทั้งการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย ปัจจุบันฟอร์ตี้ฟายไรต์กำลังสอบสวนประเด็นดังกล่าวการผลักดันตามที่กล่าวถึงข้างต้นโดยทางการไทยย่อมถือเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายภายในฉบับใหม่นี้

ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ตั้งแต่ปี 2550 แต่กฎหมายป้องกันการทรมานใหม่ของไทยแสดงถึงความพยายามที่สำคัญในครั้งแรกที่จะออกกฎหมายภายในให้มีเนื้อหาสอดคล้องตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความผูกพันที่ต้องยึดถือหลักการไม่ผลักดันกลับในฐานะที่เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยแสดงพันธกิจที่จะคุ้มครองผู้ลี้ภัย

รวมทั้งการรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (GCM)และให้ความเห็นชอบต่อข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัยในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2561 นอกจากนั้น ในวันที่ 24 ธ.ค.2562 คณะรัฐมนตรีไทย ให้ความเห็นชอบต่อ ระเบียบเพื่อจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติเพื่อจำแนกและให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการนำกลไกนี้มาปฏิบัติและยังมีข้อกังวลว่ากลไกดังกล่าวสอดคล้องตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเทศไทย บันทึกข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 ว่าปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่อยู่ในค่ายพักพิงอย่างน้อย 91,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยจากเมียนมาซึ่งอาศัยอยู่มานานตามแนวพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา และมีผู้ลี้ภัยอีก 4,800 คน จากกว่า 50ประเทศที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในที่พักพิงบริเวณพรมแดน อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่จำนวนมากรวมถึงผู้ที่หลบหนีจากการประหัตประหารและความรุนแรงในเมียนมาภายหลังความพยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ยังไม่ถูกนับเนื่องจากยังไม่มีระบบอย่างเป็นทางการเพื่อขึ้นทะเบียนและรับรองสถานะของพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย UNHCR คาดการณ์ว่ามีผู้ลี้ภัยมากกว่า 70,000 คน หนีจากเมียนมาไปยังประเทศเพื่อนบ้านภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร

“พ.ร.บ.ต่อต้านการทรมานนี้นับเป็นความคืบหน้าที่น่ายินดีและในตอนนี้ทางการไทยจะต้องรับประกันให้มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเป็นผลโดยการยุติการบังคับส่งกลับ[ผู้ลี้ภัย]” 

“หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายควรร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในไทยและเมียนมา และ UNHCR เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย” เอมี สมิธกล่าว