ไม่พบผลการค้นหา
ครบ 33 ปี วันสถาปนาท่าเรือแหลมฉบัง ส.ส.เดือน มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ส.ส. เขต 2 นครพนม พรรคเพื่อไทย นำทีมร่วมสดงความยินดี ชูความสำเร็จด้านสนับสนุนการค้าการท่องเที่ยว ติดอันดับ 5 ของโลก

8 กุมภาพันธ์ 2567 ส.ส.เดือน มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ส.ส. เขต 2 นครพนม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ได้เป็นประธาน งานวันคล้ายวันสถาปนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ครบรอบ 33 ปี ณ โรงแรมแกรนด์ พาลาซโซ่ พัทยา จังหวัดชลบุรี สิ่งสำคัญที่ยอมรับว่าเป็นความสำเร็จของท่าเรือแหลมฉบัง พบว่า ปัจจุบันมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ติดอันดับที่ 19 และเป็นท่าเรือท่องเที่ยวอันดับที่ 5 ของโลก ถือเป็นการการันตีมาตรฐานการพัฒนา ทั้งการพัฒนาการคมนาคมขนส่งสินค้า รวมถึงการท่องเที่ยว จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันสามารถให้บริการขนถ่ายตู้สินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 141 ล้านทีอียู และรถยนต์มากกว่า 20 ล้านคัน นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือ มุ่งมั่น ทุ่มเทของพนักงาน และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่ไม่หยุดการพัฒนาเพื่อยกระดับการให้บริการ ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ Smart Port โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ปรับปรุงท่าเรือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ด้วยที่ตั้งของประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และสามารถติดต่อทำการค้าผ่านแดนกับประเทศใกล้เคียง ได้แก่ จีนตอนใต้ และเวียดนาม เป็นหน้าด่านของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้เปรียบในลักษณะที่เป็นท่าเรือที่มีดินแดนหลังท่า (Hinterland) ที่มีขนาดกว้างใหญ่ จึงทำให้มีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เป็นเกตเวย์หลักของภูมิภาค

มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยอีกว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ทลฉ. ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ กทท. “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ทลฉ. ให้เป็น World Class Port เพื่อยกระดับการให้บริการ การเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity) ช่วยลดระยะเวลารอคอย (Waiting Time) ของเรือที่เทียบท่า และเพิ่มศักยภาพด้านผลผลิต (Productivity) ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารงานหน้าท่า และ Yard Operation รวมทั้งริเริ่มโครงการและกิจกรรมใหม่ ๆ จะทำให้มีการบริการที่ครบถ้วนมากขึ้น ทั้งนี้ ได้กำชับให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กทท. เร่งดำเนินโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความพร้อมของท่าเรือในการรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนชาวต่างชาติ เชื่อมั่นว่าจะมีการเติบโตด้านการพัฒนาต่อเนื่อง