ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกลชี้ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากผลพวงโควิด-19 กำลังสวนทางกับจำนวนผู้ฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจ ชี้คนฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นเสาหลักทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แนะเปิดกิจกรรม ศก.พักหนี้ครัวเรือน-กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ระบุว่าข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ติดตามจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐตั้งแต่วันที่ 1- 21 เม.ย.พบว่า มีจำนวนการตายสะสมเท่ากันที่ 38 ราย จากเส้นกราฟจะเห็นว่าอาจเป็นจุดตัดที่เส้นการตายจากโควิด-19 กำลังอยู่ในทิศทางขาลงสวนทางกับเส้นจำนวนผู้ฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจที่เป็นขาขึ้น 

นพ.เอกภพ ระบุอีกว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในวัยที่เป็นเสาหลักทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อประสบกับการตกงานหรือขาดรายได้แบบเฉียบพลัน จึงทำให้เกิดแรงกดดันมหาศาลจนทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย จากข้อมูลชุดนี้ น่าจะพอที่จะนำมาพิจารณาให้กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้บ้างแล้วก่อนที่จะเจอภาวะคนฆ่าตัวตายมากกว่าคนติดเชื้อโควิด-19 และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็คือ การพักหนี้ภาคครัวเรือนและพักหนี้สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กแบบหยุดทั้งต้นทั้งดอก เพื่อเป็นการต่อลมหายใจของคนที่ลำบากเหล่านั้น

ก่อนหน้านี้ นพ.เอกภพ ยังโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ไม่อยากให้การรายงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเป็นการรายงานเพียงมิติด้านตัวเลข แต่ควรต้องรายงานในแง่ของความยากลำบากของประชาชนด้วย เพราะเป็นภาพที่คาดไม่ถึงเลยว่า ประเทศไทยจะต้องมีการต่อแถวรับแจกอาหารกันทุก แถมที่ตลกร้ายกว่านั้นคือมีการจับกุมคนที่เอาข้าวมาแจกให้กับคนอื่น พร้อมเสนอให้มีการทบทวนมาตรการปิดเมืองโดยได้ยกตัวอย่างข้อมูลทางระบาดวิทยาของจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการเตรียมเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยไว้ประมาณ 400 เตียง ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่มากกว่านั้นคือ จ.เชียงรายยังสามารถรับมือเพื่อลดการกระจายเชื้อได้อีกในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยประมาณ 1,600 คน หากเทียบกับจำนวนห้องพักของโรงแรมในจังหวัดเชียงรายที่เวลานี้มีการปิดกิจการชั่วคราว

จากสถานการณ์ล่าสุด มีข้อมูลเปิดบ่งชี้ว่า จังหวัดเชียงรายสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสได้วันละ 150-200 ตัวอย่าง ซึ่งหมายความว่า ต่อให้เชียงรายมีคนไข้เพิ่มจำนวนวันละมากกว่า 100 ราย ระบบสาธารณสุขของเชียงรายก็ยังรับมือไหว ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่ต้องเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้เสียที โดยเชื่อว่าประชาชนรู้วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคและมีระบบเฝ้าระวังในชุมชนที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ในเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา รัฐได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง เพราะหากทำแล้วระบบสาธารณสุขควรจะมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการรับมือกับจำนวนคนติดเชื้อแม้จะเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ตาม