ไม่พบผลการค้นหา
วาระครบ 89 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หากเทียบเคียงกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า คณะราษฎรและอุดมการณ์ของการปฏิวัติกลับมาเกิดอีกครั้งแล้ว ทว่าก่อนที่จะเดินทางมาถึงวันนี้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 2475 ถูกจัดการให้เลือนหายมาตลอดหลังจากรัฐประหาร 2490 ก่อนจะถูกรื้อฟื้นผ่านวงวิชาการ และปฏิบัติการทางการเมือง จนกลับมาสู่การรับรู้ของผู้คนในปัจจุบัน

หากพูดถึงความทรงจำร่วมเกี่ยวกับการแปลงเปลี่ยนการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 และคณะราษฎรในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในเวลานั้น เป็นเรื่องน่าสนใจที่ภาพความทรงจำร่วมนี้ มีภาพที่หลากหลายทั้งฮีโร่ ปีศาจ และกลุ่มก้อนการเมืองกลุ่มหนึ่ง คำถามคือ ภาพความทรงจำร่วมอันหลากหลายที่แตกต่างกันคนละขั้วลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของผลงานวิชาการเรื่อง ราษฎรธิปไตย: การเมือง อำนาจ และความทรงจำของ (คณะ) ราษฎร เผยมุมมองเกี่ยวกับความทรงจำร่วมเหล่านี้ว่า ในแง่ของช่วงเวลาผู้คนในยุคปัจจุบันต่างไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับเหตุการณ์เมื่อ 89 ปีก่อนแล้ว แต่การรับรู้ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นเรียกได้ว่าเป็นความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นมา และส่วนใหญ่เป็นการสร้างความทรงจำหลังจากช่วงที่คณะราษฎรหมดอำนาจไปแล้ว โดยผ่านเรื่องเล่า ทั้งในแบบเรียน และคำบอกเล่าของบุคคลต่างๆ ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนคณะราษฎร และฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งการจัดการความทรงจำย่อมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ครองอำนาจในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย  

CLIP Wake Up News : ทายาทคณะราษฎรชี้ หมุดคือสัญลักษณ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ปูรากฐานกระจายการรับรู้ เชื่อมโยงผู้คนกับระบอบการปกครองใหม่

ในช่วงเริ่มต้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ศรัญญูถือเป็นช่วงที่คณะราษฎรพยายามที่จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบอบการปกครอง และวางรากฐานความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญซึ่งจะพบว่า มีการส่งคนจากกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการของคณะราษฎรให้ประชาชนได้รับรู้ทั้งประเทศ มีการสนับสนุนด้านการศึกษาในประชาชนได้เรียนรู้ผ่านแบบเรียน โดยในส่วนนี้คณะราษฎรมองว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่คนทั่วไปแทบจะยังไม่รู้ และไม่เข้าใจอะไรเลย

“แต่ถ้าถามถึงสำนึกร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนทั่วไปมีสำนึกร่วมกับเรื่องนี้ไหม ตอบได้ว่ามีความตื่นตัวมากนับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. ด้วยซ้ำ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ปรากฎอยู่ในหนังสือพิมพ์ รายงานต่างๆ หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ คนในเชียงใหม่ คนในภาคอีสานเขารับรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง และออกมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อที่จะรับทราบเรื่องราวจากส่วนกลางว่าเป็นอย่างไร ข้าราชการในต่างจังหวัดก็เข้าไปพูดคุยว่าเวลานี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น แม้ช่วงแรกคนจะไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าการปฏิวัติคืออะไร ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญคืออะไร หลัก 6 ประการคืออะไร แต่เมื่อมันมีการเผยแพร่ข้อมูลไปแล้วคนทั่วไปก็รับรู้รับทราบกัน”

“แล้วเพียงแค่ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความคิดเกี่ยวกับเรื่องคณะราษฎร รัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการมันแพร่กระจายออกไปเยอะมาก จนสามารถปลูกสำนึกของคนให้เข้ามาร่วมมือกับระบอบใหม่ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ มีคนจำนวนมากในพื้นที่ต่างจังหวัดออกมาสนับสนุนรัฐบาลระบอบใหม่ ในการปราบกบฎบวรเดช โดยเฉพาะในภาคอีสาน เราจะเห็นพลเมืองอาสา ข้าราชการอาสา ในพื้นที่ขอนแก่น และมหาสารคาม ที่ออกมาอาสาช่วยเหลือการปราบกบฎ”

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ศรัญญู มองว่าเป็นเพราะระบอบใหม่ได้เปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง คนที่เคยถูกกดขี่จากระบอบเก่า และเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐในระบอบเก่าพังทลายลง ทุกคนก็ถูกนับเป็นคนที่มีความเสมอภาคกัน ทุกคนมีเสรีภาพภายใต้กฎหมาย และนอกจากนี้ยังเกิดระบบตัวแทนราษฎรที่เข้าไปพูด หรือสะท้อนปัญหาต่างๆ ให้ส่วนกลางได้รับรู้ ซึ่งส่งผลให้คนตื่นตัวกับระบอบใหม่มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีงานเฉลิมฉลองที่รัฐบาลได้จัดขึ้น และมีประชาชนออกมาเข้าร่วมอีกจำนวนมากอย่างเช่น งานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ และงานเฉลิมฉลองวันชาติ (24 มิ.ย.) ซึ่งไม่ได้จัดขึ้นเพียงแค่ในกรุงเทพ แต่มีการจัดขึ้นในต่างจังธนหวัดด้วย ซึ่งทำให้ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์ และมีความคิดเกี่ยวกับระบอบใหม่ โดยสิ่งเหล่านี้คือหลักฐานที่ยันกลับมายาคติของฝ่ายอนุรักษนิยมที่มักบอกว่า ชาวบ้านไม่มีความรู้อะไร เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ และมองว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นเพียงการชิงสุขก่อนห่าม

“ชาวบ้านอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับการปฏิวัติ ไม่มีรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นจะไม่รู้ได้อย่างไรในเมื่อมันมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบอบใหม่ รัฐธรรมนูญ หลัก 6 ประการ รวมทั้งยังมีสิ่งพิมพ์ตามต่างจังหวัดที่พิมพ์แจกเป็นหนังสืองานศพ งานบุญก็มี โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการ”

รัฐประหาร 2490 92932331170_n.jpg

(รัฐประหาร 2490 - ภาพ เฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)


2490 เริ่มปฏิบัติการโต้กลับความทรงจำคณะราษฎร

หลังจากคณะราษฎรหมดอำนาจช่วงปี 2490 กลุ่มที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดการความทรงจคือ กลุ่มที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎร เช่น กลุ่มกบฏบวรเดช และกลุ่มกบฎกรมขุนชัยนาทนเรนทรในปี 2481 โดยหลังจากกลุ่มคนเหล่านี้พ้นโทษออกจากคุกตะรุเตา จากการอภัยโทษ และนิรโทษกรรม ก็เริ่มกลับเข้ามามีบทบาททางการเมือง เช่น การเขียนงานบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำที่พวกเขาต้องเผชิญวิบากกรรมต่างๆ ซึ่งให้ภาพลบต่อคณะราษฎร ซึ่งแพร่หลายทางหนังสือพิมพ์ และงานเขียนสารคดีการเมืองช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ศรัญญู ชี้ว่าบรรดางานต่างๆ ที่เล่าถึงภาพลบของคณะราษฎร ได้ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนงานวิชาการทางประวัติศาตร์ และรัฐศาสตร์ต่อมา และมีการผลิตซ้ำชุดความคิดแบบนี้ยาวมาตั้งแต่ 2490 เรื่อยมาจนถึงช่วง 14 ตุลาคม 2519 ก่อนที่จะมีการรื้อฟื้น ทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับคณะราษฎรใหม่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

“หากไปดูในช่วง 14 ตุลา ภาพของคณะราษฎรที่เขามองกันคือ ก็ไม่ได้ดี ไม่ได้แต่ต่างจากกลุ่ม สฤษดิ์-ถนอม-ประพาส เพราะชุดความคิดความทรงจำที่เป็นลบต่อคณะราษฎร มันแพร่หลายในวงวิชาการ ในกลุ่มนิสิตนักศึกษา”

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ศรัญญู มองว่าประวัติศาสตร์ หรือความทรงจำร่วมของผู้คน ไม่สามารถแยกออกจากการเมือง และสังคมได้ ฉะนั้นบริบททางการเมือง และสังคม โดยเฉพาะว่าใครเป็นผู้ครองอำนาจในเวลานั้นๆ ถือเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการบันทึก บอกเล่าเรื่องราว ในแต่ละยุคจะมีเส้นบางๆ ที่ขีดขั้นอยู่ว่า เรื่องไหนเล่าได้ เรื่องไหนที่เล่าไม่ได้ แต่เมื่อใดที่เพดานพังทลายลง เรื่องที่ไม่เคยอธิบายได้ เรื่องที่ไม่เคยพูดได้ กลับทำได้ พูดได้ในสาธารณะ

“ในช่วงที่ฝ่ายอนุรักษนิยมครองอำนาจเรื่องเล่ากระแสหลักที่เกี่ยวกับคณะราษฎรจึงมีทิศทางที่เป็นการโจมตี ขณะที่เรื่องเล่าที่โปรคณะราษฎรก็ไม่มีพื้นที่การรับรู้เท่าไรนัก จนกระทั่งการเมืองเปลี่ยนจึงสามารถกลับไปย้อนดูว่า ในยุคสมัยของคณะราษฎรการเมืองมันเป็นอย่างไร โดยการกลับไปย้อนดูหลักฐานต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้มันก็เป็นการทบทวนภูมิทัศน์เกี่ยวกับคณะราษฎร”

ตัวอย่างงานเขียนโต้กลับคณะราษฎร หลัง 2490 .png

ศรัญญู กล่าวด้วยว่า ความทรงจำร่วมของผู้คน ในด้านหนึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตซ้ำผ่านงานพิธีต่างๆ อย่างเช่น งานฉลองวันรัฐธรรมนูญ และงานฉลองวันชาติ 24 มิ.ย. แต่หลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจไปแล้ว การจัดงานเหล่านี้ก็ถูกลดสัดส่วนให้เล็กลง พร้อมกับแทนที่ด้วยชุดความอุดมการณ์อื่น อย่างกรณีที่เห็นได้ชัดคือ การจัดงานเฉลิมพระชมน์พรรษาของรัชกาลที่ 9 ซึ่งถูกให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวันชาติไปเป็นวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชมน์พรรษาของรัชกาลที่ 9 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นอกจากนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดหลัง 2490 เป็นต้นมานั้นก็แทบไม่ได้มีการจัดงานพิธีต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับคระราษฎร และระบอบใหม่แล้ว 

“ฉะนั้นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจัดหวัด ในช่วงพีคของคณะราษฎรช่วงปี 2480 ก็ไม่ได้ถูกผลิตความหมายซ้ำ ไม่ได้มีการเผยแพร่อุดมการณ์ ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ความทรงจำต่างๆ ก็ค่อยเลือนลงไปเรื่อยๆ และคนที่ไม่ได้อยู่ร่วมสมัยกับคณะราษฎรก็ไม่ได้รับรู้ความหมายของอนุสาวรีย์ที่เขาเห็น และก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีคุณค่าอะไร บางจังหวัดก็รื้อทิ้งไปด้วยซ้ำ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันเคยมีความสำคัญมาก และอนุสาวรีย์เหล่านี้มันเป็นตัวแทนของการร่วมแรงร่วมใจของข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่มาลงขันเพื่อที่จะสร้างแลนด์มาร์คประจำจังหวัด เพื่อที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับระบอบใหม่”


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เกือบถูกแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์ ’กษัตริย์นักประชาธิปไตย’

ศรัญญู กล่าวต่อว่า ปฏิบัติโต้กลับความทรงจำของคณะราษฎรนั้น นอกจากจะทำผ่านการเขียนงานที่แสดงให้ภาพลบของคณะราษฎรแล้ว ยังมีการกระทำที่เป็นรื้อฟื้นประวัติศาสตร์แบบกษัตริย์นิยมกลับมาด้วย หลังจากปี 2490 มีการรื้อฟื้นชุดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของรัชกาลที่ 7 ในฐานะที่เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้ ศรัญญู อธิบายว่าจอมพล ป. เองก็เป็นผู้ที่มีส่วนในการดึงกระแสกลับมาที่รัชกาลที่ 7 อีกครั้ง โดยในการรัฐประหารตัวเองในปี 2494 ซึ่งเป็นการรัฐประหารเพื่อที่จะคว่ำกระดานรัฐธรรมนูญ 2492 ที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม ที่ให้อำนาจกับฝ่ายกษัตริย์นิยมในพื้นที่รัฐสภาไม่ว่าจะเป็นสภาสูง สภาล่าง และนำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาใช้ โดยอ้างว่า นี่คือรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานมา

“แกอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (10 ธ.ค. 2475) รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานมาให้ พูดง่ายๆ ก็คือ จอมพล.ป.หยิบเอาวาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตยของฝ่ายอนุรักษนิยม เพื่อที่เอามาใช้ส่งเสริมอำนาจของตัวเอง แต่แกอาจจะไม่ได้คิดถึงสำนึกทางประวัติศาสตร์ ก็เพียงแค่หยิบมาเป็นเครื่องมือเท่านั้น แต่ไปๆ มาๆ ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับเสนอให้มีการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้นซึ่งก็มีการเลือกสถานที่ไว้หลายที่โดยหนึ่งในนั้นมีการเลือกที่จะสร้างแทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย”

ศรัญญู ให้ข้อมูลว่า โครงการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 เริ่มต้นจากความคิดว่าจะสร้างไว้ที่หน้าวังสุโขทัย ต่อมาเปลี่ยนเป็นที่หน้ารัฐสภาหน้า สุดท้ายมาจบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีการออกแบบแปลนออกมา 3 รูปแบบ มีทั้งการรื้อตรงกลางป้อมออกไปแล้วแทนที่ด้วยรัชกาลที่ 7 มีทั้งการรื้อปีกทั้ง 4 ด้านทิ้ง และแบบสุดท้ายคือการใส่โดมเข้าไปด้วย แต่สุดท้ายแล้วก็เกิดกระแสต่อต้านจากคณะราษฎรบางส่วนที่ยังอยู่ในประเทศ และยังมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ประยูร ภมรมนตรี และในที่สุดจอมพล ป. ก็ยุติโครงการนี้ลง โดยอ้างเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ


การรื้อฟื้นความทรงจำของคณะราษฎรเกิดขึ้นในวงวิชาการหลังฝ่ายซ้ายกระแสตก

ศรัญญู ระบุว่า การรื้อฟื้นความทรงจำของคณะราษฎรเกิดขึ้นครั้งแรกในแวดวงวิชาการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริบททางการเมือง โดยการรื้อฟื้นครั้งนั้นอยู่ในช่วงทศวรษ 2520 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่กระแสฝ่ายซ้ายตกลง โดยที่ผ่านมาฝ่ายซ้ายเองก็มีคำอธิบายเกี่ยวกับ 2475 เช่นกันแต่แตกต่างจากฝ่ายเจ้า โดยฝ่ายเจ้าอธิบาย 2475 ว่าเป็นการชิงสุขก่อนห่าม แต่ฝ่ายซ้ายมีคำอธิบายตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมาว่า 2475 เป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลว ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างศักดินาได้ และไทยยังมีสถานะกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินาอยู่

“หลัง 14 ตุลา หลัง 6 ตุลา เมื่อนักศึกษาเข้าป่าไปแล้ว แล้วก็ได้รับรู้เกี่ยวกับคำอธิบายชุดนี้ของฝ่ายซ้าย ก็มีการโต้แย้งกัน และนำไปสู่คำอธิบายใหม่ที่มองคณะราษฎรบวกมาขึ้น อย่างน้อยก็มองว่า คณะราษฎรได้ทำก่ารเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เปลี่ยนสังคมศักดินา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อคำอธิบายในวงวิชาการในช่วงทศวรรษ 2520”

งานในแวดวงวิชาการในช่วงทศวรรษ 2520 พบว่ามีงานสำคัญซึ่งตีพิมพ์อยู่ในปาจารยสารในปี 2524 โดยเป็นบทความของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่พูดถึงสาเหตุของการปฏิวัติ 2475 และมีการกลับไปหาหลักฐานร่วมสมัย คือ ประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 นำมาตีพิมพ์ ขณะที่ปีถัดมา วารสารธรรมศาสตร์ มีการพูดถึง 2475 ในวาระครบรอบกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีและก็เป็นการครบรอบ 50 เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย โดยมีทั้งงานของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล , นครรินทร์ เมฆไตรรัตน์ ฯลฯ

“หลังจากนั้นก็ทำให้ในแวดวงวิชาการหันมาศึกษาทบทวนเกี่ยวกับ 2475 เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นงานของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และอาจารย์ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ แต่ที่น่าสนใจคือปี 2535 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 60 ปี ซึ่งมีการจัดงานเสวนา ถ้าจำไม่ผิดอาจารย์สุธาชัยเป็นหัวหน้าโครงการ และในปีนั้นมีการตีพิมพ์งานวิชาการเกี่ยวกับ 2475 เยอะมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นงานของอาจารย์นครินทร์ เรื่องการปฏิวัติสยาม 2475 หลังจากนั้นก็มีการผลิตงานวิชาการเกี่ยวกับ 2745 มากขึ้น และมีการแตกประเด็นย่อยออกไปอีกจำนวนมาก”

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ศรัญญูมองว่า นี่อาจจะเป็นเพียงแค่การรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับ 2475 ในวงแคบๆ เท่านั้น ขณะที่คนทั่วไปอาจจะยังมีความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรในทางลบอยู่


จุดเปลี่ยนผ่านสำคัญจากผู้ร้าย สู่ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงคือ หลังรัฐประหาร 2549

หลังจากที่เริ่มรื้อฟื้นทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับ 2475 และคณะราษฎรช่วง 2520 เรื่อยมา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เรื่องราวเหล่านี้กลัยมาสู่การรับรู้ของผู้คนทั่วไปคือ ช่วงหลังรัฐประหาร 2549 ศรัญญู ชี้ว่าจากการศึกษาของ ชาตรี ประกิตนนทการ ระบุว่า นี่คือการเกิดใหม่ของคณะราษฎร ซึ่งไม่ได้มีเพียงการอธิบายใหม่ในวงวิชาการ แต่มันแพร่กระจายในความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองด้วย ออกมาในรูปแบบการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดง มีการตั้งชื้อกลุ่มที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎร เช่น กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

“เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับบริบททางเมืองอย่างชัดเจน เพราะหลังจากการรัฐประหารปี 49 เกิดกลุ่มทางการเมืองหลายกลุ่มเกิดขึ้น และมีการยึดโยงตัวเอง เชื่อมโยงตัวเองกับการต่อสู้ร่วมสมัย เช่น การต่อสู้ระหว่างไหร่และอมาตย์ และยึดโยงตัวเองว่าเป็นตัวแทนของคณะราษฎรต่อสู้กับกลุ่มเจ้า และมีการนำสัญลักษณ์ต่างๆ มาใช้ หรือกลับไปยึดโยงตัวเองกับพื้นที่บางพื้นที่ซึ่งเคยหมดพลังไปแล้ว เช่น หมุดคณะราษฎร และอนุสาวรีย์ปราบกบฏ”

ขณะเดียวกันยังมีงานวิชาการที่พูดถึง 2475 ในมิติต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ออกมาอีกจำนวนมากหลังการรัฐประหาร 2549

อนุสาวรีย์ปราบกบฏ รัฐธรรมนูญ คณะราษฎร 181228_093642.jpg


หลังรัฐประหาร 2557 เริ่มใช้อำนาจดิบอุ้มหายวัตถุความทรงจำ แต่ได้ผลตรงกันข้าม

ศรัญญู ให้ข้อมูลว่า หลังการรัฐประหารปี 2557 พบว่าเกิดปรากฎการณ์รื้อถอนวัตถุความทรงจำที่เกี่ยวกับคณะราษฎร ทั้งหมุดคณะราษฎรที่หายไปในช่วงต้นเดือนเมษยน ปี 2560 และแทนที่ด้วยหมุดที่ต่อมาถูกเรียกว่า หมุดหน้าใส ทั้งการรื้ออนุสาวรีย์ปราบกบฎในช่วงวันหยุดสิ้นปี 2561 โดยที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเองก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าปัจจุบันนี้อนุสาวรีย์ปราบกบฎ ถูกย้ายไปไว้ที่ใด นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชี่อห้องในกระทรวงกลาโหมเป็นห้องบวรเดช และห้องศรีสิทธิสงคราม พร้อมๆ กันนั้นก็มีการรื้ออนุสาวรีย์พระยาพหลฯ และจอมพล ป. ออกจากค่ายทหาร และยังมีการเปลี่ยนชื่อค่ายจากค่ายพหลโยธิน ค่ายพิบูลสงคราม มาเป็นค่ายภูมิพล กับค่ายสิริกิติ์

“อันนี้มันคือ การเบรกกระแสคณะราษฎรชัดๆ และมีการสร้างความหมายใหม่ มันเป็นการรื้อถอนความทรงจำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคณะราษฎรออกจากพื้นที่สาธารณะด้วยซ้ำ และปรากฎการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนปี 2557 ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ปล่อยให้มันดำรงอยู่โดยไม่ไปทำลาย แต่ก็ไม่ได้ให้ความหมายอะไรกับมัน”

“นี่คือการใช้อำนาจดิบ ในด้านหนึ่งอาจจะไม่ประณีประณอมแล้วกับความทรงจำของคณะราษฎร ซึ่งนักวิชาการก็มีการอธิบายไว้เยอะ การทำแบบนี้มันคือการแสดงอำนาจอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตอนนี้มีอำนาจจริงแล้วที่จะไปจัดการกับความทรงจำ จัดการกับอดีต ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีการประณีประณอมในระดับหนึ่ง แต่ผลของการทำแบบนี้มันให้ผลตรงกันข้าม เพราะว่าหลังจากที่มีการทำให้หาย มีการรื้อถอน กลับทำให้ความทรงจำที่เคยเก็บไว้อยู่ในอนุสาวรีย์กระจายออกไปสู่สาธารณะ

ใครจะไปคิดว่าหมุดคณะราษฎรที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมานาน เมื่อมันหายไปจะเกิดการผลิตซ้ำเป็นวัตถุ สิ่งของต่างๆ แพร่กระจายในพื้นที่สาธารณะ เช่นเดียวกันกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งก่อนหน้านี้คนก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่เมื่อมันหายไป คนก็เริ่มสนใจมากขึ้น และก็ตั้งคำถามว่าตอนนี้มันไปอยู่ที่ไหน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ เหมือนกับมีใครมาปิดปากไว้”


มรดกที่ลบไม่ได้ของราษฎร ย่างก้าวที่หวนกลับไปไม่ได้อีก

ศรัญญู มองว่า มรดกของคณะราษฎรมีทั้งในส่วนที่สามารถลบได้ และส่วนที่ไม่สามารถลบได้เช่น อุดมการณ์ทางการเมือง และผลผลิตที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกหลายอย่างที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น การให้ความสำคัญกับความเสมอภาพ ซึ่งก่อน 2475 สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเพราะทุกคนเกิดมาแบบมีลำดับขั้นตามเชื้อสายชาติกำเนิด แต่หลังจาก 2475 ทุกคนมีความเสมอภาค และเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย นอกจากนี้ยังมีไอเดียเรื่องรัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครองที่ต้องมี ส.ส. มีรัฐสภา

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของ 2475 คือการปฏิวัติ 24 มิถุนายน เพราะหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนทางการเมืองครั้งไหนก็ตามมันไม่สามารถห้วนกลับไปสู่ระบอบเก่าได้อีกแล้ว แม้ว่าคุณจะรัฐประหารมาแต่คุณก็ต้องอ้างประชาธิปไตย คุณไม่สามารถโหยหากลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อีก แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยในบางยุคบางสมัย มันอาจจะมีนัยคล้ายกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง แต่คุณก็ต้องอ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย”

ศรัญญู ยังวิเคราะห์ต่อว่า การเกิดขึ้นของคณะราษฎร 2563 เองก็มีความน่าสนใจตั้งแต่การเรียกตัวเองว่าเป็นคณะราษฎร รวมทั้งการปราศรัยในหลายๆ ครั้งก็มีการพูดถึงคณะราษฎรและตอกย้ำว่าตนเองเป็นผู้สืบทอด ยึดโยงตัวเองเชื่อมต่อกับคระราษฎร แต่สิ่งที่สามารถเชื่อมโยงกันได้มากที่สุดของคณะราษฎร 2563 กับคณะราษฎร 2475 คือการชูธงเรื่องการปฏิรูปสถาบัน เพราะที่ผ่านมาไม่มียุคสมัยใดที่มีการจำกัดพระราชอำนาจได้เท่ากับยุคสมัยของคณะราษฎร