ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการคลัง จ่อกู้เงินชนเพดาน 6.3 แสนล้าน ตามพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ให้เพียงพอใช้จ่ายในประเทศ ดันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสิ้นปีนี้แตะ 52%

แพตริเซีย มงคลวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ได้เห็นชอบปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 โดยให้กระทรวงการคลังกู้เงินปีงบประมาณ 2563 เพิ่มอีก 2.14 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้ในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เพราะมีการคาดว่าการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้กว่า 3 แสนล้านบาท หรือ ต่ำกว่าเป้าหมาย 9% เพื่อให้เพียงพอใช้จ่ายในประเทศ

โดยล่าสุดได้รับรายงานว่าเงินคงคลังเหลือน้อยมาก เนื่องจากไม่มีรายได้ เพราะมีการเลื่อนการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้ ทำให้คลังคาดว่าจะเริ่มมีเงินเข้าในช่วงเดือน ก.ย. นี้ จึงจำเป็นต้องให้คลังเปิดวงเงินกู้ดังกล่าว โดย สบน.จะประเดิมกู้ส่วนแรก 5 หมื่นล้านบาท ด้วยการออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้ประชาชนทั่วไปในเดือน ก.ย. 2563

สำหรับ วงเงินกู้ 2.14 แสนล้านบาทที่เพิ่มขึ้น เป็นคนละส่วนการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2563 จำนวน 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งมีการกู้ไปจนเต็มหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายกรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ในปี 2563 ไม่ได้ทำเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยเคยกู้เงินลักษณะนี้ในปีที่ไทยจะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาแล้ว เนื่องจากตอนนั้นรายจ่ายมากกว่ารายได้ที่เก็บได้

ผอ.สบน. กล่าวว่า ตามกฎหมาย คลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย บวกกับอีก 80% ของต้นเงินชำระเงินกู้ ซึ่งในปี 2563 จะสามารถกู้ได้ 6.38 แสนล้านบาท ซึ่งการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล และการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการกู้เต็มจำนวนตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ทันที

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การกู้เงินเพิ่มดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะมีปัญหา โดยล่าสุดอยู่ที่ 45.83% ของจีดีพี และคาดว่าสิ้นปีงบประมาณนี้จะอยู่ที่ 51-52% ของจีดีพี และสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 57-58% ของจีดีพี ส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้คลังกู้ไปแล้ว 3.18 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือคาดว่าจะกู้ในปีงบประมาณ 2564 ตามความต้องการใช้เงินของรัฐบาลในแต่ละโครงการ

สำหรับวงเงินประเดิมกู้ส่วนแรก 5 หมื่นล้านบาท จะทำการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ 2 รุ่น 2 อายุ 2 ช่องทาง คือ รุ่นวอลเล็ต สบม. ครั้งที่ 2 วงเงินจำหน่าย 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.70% ต่อปี จำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. – 11 ก.ย. 2563

และ รุ่นก้าวไปด้วยกัน (Moving Forward) วงเงินจำหน่าย 45,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 2.22% ต่อปี จำหน่ายผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย โดยเปิดการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 วันที่ 26 ส.ค. – 3 ก.ย. 2563 ให้บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย และช่วงที่ 2 วันที่ 4 – 11 ก.ย. 2563 จำหน่ายเป็นการทั่วไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: