ไม่พบผลการค้นหา
วันนี้(15 ส.ค.)เป็นวันครบรอบการประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่น และเป็นวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับชาติเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ตึงเครียดที่สุดด้วย
วันนี้(15 ส.ค.)เป็นวันครบรอบการประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่น และเป็นวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับชาติเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ตึงเครียดที่สุดด้วย โดยศูนย์กลางของความขัดแย้งตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็คือ "สุสานยาสุคุนิ" ทำไมญี่ปุ่นจึงยังปล่อยให้บาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
 
ศาลเจ้ายาสุคุนิ อาจจะเป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยมากกว่าวัดหรือศาลเจ้าที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของญี่ปุ่น เพราะที่นี่ตกเป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา ในฐานะศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ โดยจีนและเกาหลีใต้มักออกมาประท้วงการที่นักการเมืองญี่ปุ่นเดินทางไปเคารพศพของอดีตทหารที่พลีชีพในสงครามโลกครั้งที่สองที่สุสานทหารผ่านศึกยาสุคุนิ โดยกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่แสดงความสำนึกผิดต่อความเลวร้ายที่ญี่ปุ่นก่อขึ้นในช่วงสงครามโลก และยกย่องอาชญากรสงครามในฐานะวีรบุรุษของชาติ
 
และไม่มีวันไหนในรอบปี ที่ศาลเจ้ายาสุคุนิจะกลายเป็นจุดสนใจและจุดก่อกำเนิดความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้านเท่าวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบการรำลึกถึงการประกาศยอมแพ้สงครามโลกของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเลือกที่จะมาเคารพศพทหารผู้พลีชีพในสงครามในวันนี้ โดยในจำนวนผู้ที่เดินทางมายังศาลเจ้ายาสุคุนิ ที่มีถึง 5 ล้านคนในแต่ละปี มีกว่า 160,000 คนที่เลือกมาสักการะดวงวิญญาณของทหารผู้ล่วงลับในวันที่ 15 สิงหาคม
 
จริงๆแล้วในพื้นที่กว่า 60 ไร่ของศาลเจ้ายาสุคุนิ ไม่ได้มีเพียงสุสานทหารผ่านศึกเท่านั้น เดิมที่นี่เป็นหลุมศพของชาวญี่ปุ่นกว่า 2 ล้าน 5 แสนคนที่เสียชีวิตตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แต่การเพิ่มสุสานทหาร และพิพิธภัณฑ์สงคราม ที่แสดงชิ้นส่วนความทรงจำของทหารและพลเรือนที่ต้องสูญเสียชีวิตและญาติพี่น้องไปในช่วงเวลานั้น ทำให้ศาลเจ้ายาสุคุนิกลายเป็นสถานที่สำคัญที่สุดในญี่ปุ่น ที่ใช้รำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 2
 
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นหลายยุคหลายสมัยจึงยอมเดินทางไปเคารพดวงวิญญาณทหารที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ แม้จะเสี่ยงต่อความร้าวฉานกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ผู้ประกาศชัดเจนว่าบุคคลในรัฐบาลทุกคนมีสิทธิไปศาลเจ้ายาสุคุนิ เพราะทหารที่เสียชีวิตในสงคราม เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อชาติ แม้ว่าการกระทำของพวกเขาจะถูกหรือผิดก็ตาม 
 
น่าสนใจว่าสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้จากการไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ ก็คือคะแนนนิยมจากประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งหลายครั้งคะแนนนิยมนี้คุ้มค่า เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วกับชาติเพื่อนบ้าน 
 
เช่นในกรณีของนายอาเบะ ที่หลายฝ่ายจับตามองว่าเขาอาจจะเดินทางมาเคารพดวงวิญญาณของทหารผ่านศึกที่ศาลยาสุคุนิในวันนี้ เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน ในช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายหลายประการที่ต้องการแรงหนุนจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหาร หรือการแก้รัฐธรรมนูญให้มีความรักสันติภาพน้อยลง ขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนและญี่ปุ่นซึ่งตึงเครียดมานานจากกรณีพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ อยู่ในสภาวะที่คงไม่มีสถานการณ์ใดทำให้เลวร้ายลงไปได้อีกมากนัก
 
เกมการเมืองแบบชาตินิยมเช่นนี้ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคตข้างหน้า ศาลเจ้ายาสุคุนิ ก็จะยังคงเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและเกาหลีใต้ เป็นแผลเป็นทางประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นไม่ยอมให้มีวันจางหาย ตราบใดที่แผลเป็นนั้นยังคงสร้างความสามัคคีกลมเกลียวระหว่างคนในชาติ และสร้างคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลได้
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog