นักประวัติศาสตร์ดาวรุ่งคนหนึ่ง เสนอหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ารัชกาลที่ 7 และเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด สนับสนุนขบวนการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งวางแผนลอบสังหารบุคคลในคณะราษฎรด้วย
งานสารคดีการเมืองจำนวนมากเสนอแนวคิดว่า รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นนักประชาธิปไตย และพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยโดยไม่ได้ทรงขัดขืน แต่นักประวัติศาสตร์ดาวรุ่งคนหนึ่ง เสนอหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ารัชกาลที่ 7 และเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด สนับสนุนขบวนการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งวางแผนลอบสังหารบุคคลในคณะราษฎรด้วย
ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา งานสารคดีการเมืองจำนวนมากเสนอแนวคิดที่ว่า รัชกาลที่ 7 ดำริจะเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อคณะราษฎรประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 7 ก็ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยโดยมิได้ขัดขืน
หนังสือเรื่อง "พระราชอำนาจ" ของนายประมวล รุจนเสรี ประกาศแนวคิดนี้อย่างโจ่งแจ้ง ไม่ขวยเขิน ในบทที่ชื่อ "อธิปไตยพระราชทาน" นายประมวลเขียนว่า "คณะราษฎรได้ฉกฉวยโอกาสและพระราชปณิธานในการพระราชทานอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ทำการยึดอำนาจเสียก่อน โดยปราศจากการต่อสู้ขัดขวางจากพระมหากษัตริย์และกองทัพของพระองค์แต่อย่างใด"
แต่วันนี้ นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งได้เปิดโปงขบวนการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่รัชกาลที่ 7 และเหล่าเจ้านายในวัง
อาจารย์ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์ ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 7 รวมทั้งเชื้อพระวงศ์และขุนนางใกล้ชิด สร้างขบวนการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยมี ทหาร ข้าราชการ สื่อ พรรคการเมืองอยู่ในขบวนการ และมีกระทั่งการใช้หน่วยข่าวกรอง และตำรวจลับ
ที่น่าตกใจคือ ตามบันทึกของนายพโยม โรจนวิภาต หรือ "สายลับพระปกเกล้า" รหัส "พ.27" ขบวนการ "ฝ่ายเจ้า" ยังมีแผนส่งสายลับไปลอบสังหารผู้นำคณะราษฎรหลายคนด้วย
ในผลการศึกษา อาจารย์ณัฐพล อ้างคำไต่สวนของศาลและบันทึกของ "สายลับพระปกเกล้า" ที่บ่งชี้ว่าเชื้อพระวงศ์ระดับสูงหลายพระองค์ มีส่วนในแผนวางยาพิษพระยาพหลพลพยุหเสนา และสังหารหลวงพิบูลสงคราม หลวงอุดลเดชจรัส และขุนปลดปรปักษ์ หลายครั้ง รวมถึงครั้งที่หลวงพิบูลฯ ถูกลอบยิงบาดเจ็บในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2478 ด้วย
นอกจากนี้ อาจารย์ณัฐพล ยังอ้างหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่า รัชกาลที่ 7 ให้สนับสนุนกบฏบวรเดชทั้งทางตรงและทางอ้อม
หลังรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติและไปอยู่ประเทศอังกฤษ ขบวนการต่อต้านคณะราษฎร ก็เปลี่ยนมารวมศูนย์อยู่ที่พระราชวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และองคมนตรีแทน
อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่ากลุ่มใกล้ชิดกษัตริย์ที่ต่อต้านคณะราษฎรนั้นมีอยู่จริง แต่อาจไม่ได้รวมศูนย์กันเป็นขบวนการอย่างที่ อาจารย์ณัฐพล เสนอ พร้อมกับเห็นว่า ปฏิกิริยาต่อต้านคณะราษฎรนั้น อาจไม่ใช่การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่อาจเป็นเพียงการต่อต้านเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น
ผลการศึกษาของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ล่าสุด บริษัท เอเซียบุ๊คส์ จำกัด ได้แจ้งให้ร้านหนังสือเอเซีย บุ๊คส์ ทั้งหมด เก็บหนังสือเล่มนี้ออกจากชั้นวาง รวมทั้งหนังสือเรื่อง " นายใน " สมัยรัชกาลที่ 6 ของนายชานันท์ ยอดหงษ์ ที่ปรับปรุงใหม่จากวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน โดยเอเซีย บุ๊คส์ให้เหตุผลว่า หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ มีเนื้อหาค่อนข้างเปราะบางกับสถานการณ์ในปัจจุบัน