ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยเจอนอกระบบสุริยะของเรา อยู่ห่างจากโลก 57 ปีแสง มีความน่าสะดุดตาด้วยสีชมพูหวานแหวว เผยมีกำเนิดแหวกทฤษฎีว่าด้วยการก่อตัวของดาวเคราะห์
กล้องโทรทรรศน์ซูบารุในฮาวายได้ถ่ายภาพในคลื่นความถี่ใกล้รังสีความร้อนของดาวเคราะห์ GJ 504b ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์อันสุกสว่าง GJ 504 ในกลุ่มดาวกันย์
ไมเคิล แม็กเอลเวน แห่งศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซา ในเมืองกรีนเบลต์ มลรัฐแมรีแลนด์ บอกว่า ถ้าเราสามารถเดินทางไปถึงดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ เราจะได้เห็นมันเรืองแสงสีชมพู ซึ่งเกิดจากความร้อนที่ยังหลงเหลือจากการก่อตัว
@ ภาพกราฟิก แสดงส่วนประกอบของกล้องโทรทรรศน์ซูบารุ
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเราดวงนี้ อยู่ห่างจากโลก 57 ปีแสง มองเห็นได้อย่างเลือนรางด้วยตาเปล่า ระบบสุริยะของมันเพิ่งมีอายุแค่ 160 ล้านปี ขณะที่ของเรามีอายุ 4,500 ล้านปีแล้ว
แม้จัดเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดเล็กที่สุดที่โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์เท่าที่เคยถ่ายภาพได้ แต่ดาวเคราะห์ก๊าซดวงนี้ก็มีขนาดใหญ่กว่าดาวฤหัสบดีประมาณ 4 เท่า โคจรห่างจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางเป็นระยะทาง 44 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดังนั้น มันจึงอยู่นอกอาณาบริเวณที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
การก่อกำเนิดขึ้นในระยะห่างจากดาวฤกษ์อย่างมากเช่นนี้ ทำให้ทฤษฎีว่าด้วยการก่อตัวของดาวเคราะห์ที่ยึดถือกันในปัจจุบันไม่สามารถตอบได้ ว่า ทำไมในระยะไกลขนาดนั้นยังมีดาวเคราะห์ที่มีมวลมากเกิดขึ้นได้
ตามแบบจำลองการก่อตัวของดาวเคราะห์ในปัจจุบันนั้น ดาวเคราะห์ที่มีมวลมากอย่างเช่นดาวฤหัสฯ เกิดจากการที่ดาวเคราะห์น้อยและดาวหางพุ่งเข้าชนกันและหลอมรวมตัวเป็นแกนกลาง เมื่อผนึกกันจนมีมวลมากพอก็จะดึงดูดเอาก๊าซจากแผ่นจานสะสมสารรอบดาวฤกษ์อายุน้อยมาเป็นเนื้อสารของมัน
แต่ดาวเคราะห์ GJ 504b นี้อยู่ห่างออกไปจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางมากทีเดียว ทฤษฎีดังกล่าวไม่อาจอธิบายได้ว่า มันได้รับมวลสารมาจากไหน
@ เทียบกันแล้ว ดาวฤกษ์ GJ 504b โคจรห่างจากดาวฤกษ์ศูนย์กลาง ยิ่งกว่าวงโคจรของดาวเนปจูน
การค้นพบนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจ ซีดส์ (SEEDS-Strategic Exploration of Exoplanets and Disks) ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ซูบารุ ซึ่งพยายามอธิบายกำเนิดของระบบสุริยะอื่น โดยศึกษาระบบดาวฤกษ์หลายๆขนาดและหลายๆช่วงอายุ โดยถ่ายภาพในย่านความถี่ใกล้รังสีอินฟราเรด
รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal
Source : Science World Report