6 เมษายน เป็นวันสวรรคตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ที่มีพระราชกรณียกิจสำคัญในการกู้ชาติการจากเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่พระราชประวัติของพระองค์ กลับเป็นสิ่งที่คนไทยไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน
57 ปีมาแล้ว ที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งตระหง่าน ย่านวงเวียนใหญ่ในกรุงเทพ มหานคร เพื่อให้คนไทยรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ ที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี 2310
พระมหากรุณาธิคุณในเรื่องนี้ ทำให้นักประวัติศาสตร์อย่างศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า พระองค์ทรงเป็นวีรบุรุษของชาติที่ประชาชนรู้จักดีที่สุด และมีศาลเทพารักษ์และอนุสาวรีย์ถวายแด่พระองค์มากที่สุดยิ่งกว่าอดีตพระมหากษัตริย์ของไทยพระองค์อื่น ๆ
ในขณะที่ประเด็นการสวรรคตของพระองค์ ในวันที่ 6 เมษายน 2325 เป็นสิ่งที่คนไทยเล่าขาน และมีรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกัน
ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ในหนังสือ”การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" หน้า 575 ว่า
" ( พระพุทธยอดฟ้าฯ) จึงมีรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุม ก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากสินจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายแล้ว ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ครั้น ( พระพุทธยอดฟ้าฯ)ได้ทอดพระเนตร จึ่งโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมแลเพชฌฆาตก็ให้หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสีย ถึงแก่พิราลัย จึ่งรับสั่งให้เอาศพไปฝัง ณ วัดบางยี่เรือใต้"
ขณะที่นายปรีดา ศรีชลาลัย นักประวัติศาสตร์ อดีตข้าราชการกองวรรณคดี กรมศิลปากร กล่าวถึงข้อมูลอีกด้าน ในบทความเรื่อง”ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม 2524 ว่า
" สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกปลงพระชนม์ ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวชจนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น 28 วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์ หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) "
แต่ไม่ว่าจะทรงสิ้นพระชนม์ ตามคำร่ำลือใด วัดอินทาราม เป็นจุดสุดท้ายที่ข้อมูลทั้ง 2 ด้านมีความเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ ข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์กว่า 150 คนก็ถูกประหารชีวิต รวมถึงพระยาพิชัยดาบหัก และศพก็ถูกฝังใกล้กับพระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ซึ่งวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ครบรอบ 229 ปี การสิ้นพระชนม์พระเจ้ากรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในอาณาจักรธนบุรี ก่อนที่เมืองหลวงจะย้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี
Produced by VoiceTV