ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติจัดซื้อ 'เรือฟริเกต'วงเงิน 1.46 หมื่นล้านบาท ขณะที่ 'ทร.' แจงเพื่อผลประโยชน์ของชาติ โวตัวเรือแบบ 'สเตลท์' ลดการตรวจจับของศัตรู พร้อมรบแบบ 3 มิติ
ครม.อนุมัติจัดซื้อ 'เรือฟริเกต'วงเงิน 1.46 หมื่นล้านบาท ขณะที่ 'ทร.' แจงเพื่อผลประโยชน์ของชาติ โวตัวเรือแบบ 'สเตลท์' ลดการตรวจจับของศัตรู พร้อมรบแบบ 3 มิติ
 
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 30 ก.ค.2556 ซึ่งมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมได้อนุมัติงบประมาณให้กับ 3 เหล่าทัพผ่านกระทรวงกลาโหม โดยก้อนแรกเป็นของกองทัพเรือที่มีการอนุมัติงบประมาณผูกพันข้ามปี 2557-2561 ในโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต สมรรถนะสูงจำนวน1ลำ วงเงินกว่า 14,997 ล้านกว่าบาท ที่ต่อเรือจากอู่บริษัทแดวู ประเทศเกาหลีใต้
 
ขณะที่กองทัพบก ครม.ได้อนุมัติให้ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม ใช้งบผูกพัน3ปี 2556-2559 เพื่อขยายขีดความสามารถ ในการก่อสร้างโรงงานผลิตดินส่งลูกระเบิดพร้อมวิจัยรวมกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล
 
อีกทั้งครม.ยังอนุมัติงบกลางประจำปี 2556 ให้กองทัพอากาศ จำนวน 718 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องบิน เพื่อสนับสนุนงานกองทัพ และจัดสรรเป็นงบซ่อมบำรุง
 
"วาระนี้เป็นวาระริมแดงที่ไม่ให้ในส่วนของทำเนียบรัฐบาลมีการแถลงข่าว ส่วนกองทัพจะแถลงเองหรือไม่ก็เป็นเรื่องของกองทัพ" แหล่งข่าวกล่าว
 
รายงานข่าวจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพิ่มเติมว่า ครม.ได้อนุมัติการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จำนวน 1 ลำ วงเงิน 14,600 ล้านบาท ที่จะเข้าประจำการที่กองทัพเรือ(ทร.) ตามที่กระทรวงกลาโหมเป็นผู้เสนอเรื่องอนุมัติการผูกพันงบ 5 ปี (2557-2561) ทั้งนี้ทางสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือได้ทำเอกสารชี้แจงว่า ทร.ได้จัดหาเรือฟริเกต เพื่อนำไปใช้ในการป้องกัน รักษาอธิปไตยของชาติ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจทางทะเล และจัดหาเพื่อทดแทน เรือฟริเกต ชุด ร.ล. พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ ร.ล.พุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ครบกำหนดปลดประจำการในปี 2558 และ 2561 ตามลำดับ จึงมีความจำเป็นจัดหาเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำ โดยลำที่ 1 กำลังจัดหาในครั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556 - 2561 ส่วนลำที่ 2 จะพิจารณาดำเนินการจัดหาต่อไป
 
สำหรับเรือฟริเกต ที่จัดหาจะมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ คือ การปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ และการปฏิบัติสงครามผิวน้ำ โดยสามารถปฏิบัติงานร่วมกับ ฮ.ทร. ในการรับ-ส่ง ฮ. และนำ ฮ.เข้าเก็บในโรงเก็บ ฮ.ได้ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มขีดความสามารถของระบบตรวจการณ์ และระบบอาวุธในการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศให้มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งระบบอาวุธและระบบอำนวยการรบ ได้รับการออกแบบให้มีขีดความสามารถในการเชื่อมต่อข้อมูลทางยุทธวิธี ที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบการรบของเรือฟริเกต ชุด ร.ล. นเรศวร และ ร.ล.จักรีนฤเบศร ได้ เป็นผลทำให้การปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประกอบกับข้อเสนอการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่บริษัทฯ เสนอ จะทำให้เพิ่มขีดความสามารถให้อู่เรือไทยและบุคคลากรทั้ง ทร. และภาคเอกชนให้มีความรู้ความชำนาญ รองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการบำรุงรักษา ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือรบในประเทศได้
 
อย่างไรก็ตาม ทร.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาดำเนินการ โดยได้เชิญชวนอู่เรือของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา จำนวน 13 ราย ซึ่งรวมถึงอู่เรือจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ด้วย เพื่อเปิดกว้างให้มีการแข่งขันให้ ทร. ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมีผู้เสนอแบบเรือ 5 ราย ได้แก่ อู่เรือจากสาธารณรัฐอิตาลี ราชอาณาจักรสเปน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (2 ราย) และสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้นได้ดำเนินการคัดเลือกแบบตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลักของ ทร. โดยผลการพิจารณาปรากฏว่า แบบเรือของบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering Co., Ltd. (DSME) สาธารณรัฐเกาหลี สามารถตอบสนองภารกิจของ ทร.ได้ดีที่สุด และเป็นแบบเรือที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด จึงได้รับการคัดเลือก
 
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือระบุ แบบเรือฟริเกตที่ได้รับการคัดเลือก เป็นแบบที่พัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) ซึ่งเรือฟริเกตที่ ทร.จัดหา มีการออกแบบและสร้างเรือ โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และทร.เกาหลี อีกทั้งได้รับการรับรองเป็นแบบที่ได้รับรองจากสถาบันจัดชั้นเรือซึ่งเป็นสมาชิกของ IACS (International Association of Classifications Society) โดยแบบเรือดังกล่าว มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล กำลังพล 136 นาย ลักษณะของเรือออกแบบโดยใช้ Stealth Technology และลดการแพร่คลื่นแม่เหล็กตัวเรือ รวมทั้งลดการแพร่เสียงใต้น้ำ ติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบอาวุธจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ รวมทั้งป้องกันตัวเองในระยะประชิด ตามมาตรฐานยุโรป สหรัฐฯ และ ทร.ที่มีใช้งานและกำลังจัดหา การสร้างเรือ จะดำเนินการ ณ อู่ต่อเรือของบริษัทDSME สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในระหว่างปี 2556 - 2561 โดยมีค่าจ้างสร้างเรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 14,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม อะไหล่เครื่องมือ เอกสาร ส่วนสนับสนุน การทดสอบทดลอง การฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
 
Source : เว็บไซต์คมชัดลึก Tuesday, July 30, 2013 
 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog