ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอทางเลือกกำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหล ทั้งในทะเลและบนชายฝั่งเกาะเสม็ด ด้วยการใช้ "KEEEN" (คีนน์) สารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอทางเลือกกำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหล ทั้งในทะเลและบนชายฝั่งเกาะเสม็ด ด้วยการใช้ "KEEEN" (คีนน์) สารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพ ซึ่งคิดค้นโดยนักวิจัยไทยจากศูนย์ไบโอเทค เบื้องต้นจะส่งทีมงานจะลงพื้นที่สำรวจคราบน้ำมันในวันพรุ่งนี้(31ก.ค.56) เพื่อวางแผนดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 
 
 
หนึ่งในแนวทางกำจัดคราบน้ำมัน ที่รั่วไหลในทะเลและบนชายฝั่งอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง คือการใช้ Bio Dispersant หรือสารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพ ซึ่งกระทรวงวิทยาสศาสตร์และเทคโนโลยี มอบหมายให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค เป็นผู้ประสานงานกับภาคเอกชน ที่นำงานวิจัยนี้ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ในชื่อ "KEEEN" 
 
 
คุณสมบัติเด่นของสารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพ คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ที่คัดเลือกมาจากแหล่งน้ำมันดิบธรรมชาติ จะทำหน้าที่ย่อยสลายน้ำมันให้กลายเป็น เอชทูโอ หรือน้ำ และ ซีโอทู หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่างจากการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน ที่ยังคงหลงเหลือสารพิษอยู่ในระบบนิเวศ
 
 
การสาธิตนี้ แสดงให้ประสิทธิภาพของสารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพ ด้านขวาคือการเทน้ำเปล่า จะเห็นว่าน้ำมันเกาะตัวลอยเหนือน้ำ ขณะที่้ด้านซ้ายเทน้ำผสมสารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพ ปรากฎว่า น้ำมันเกิดการแตกตัวเป็นเม็ดเล็กๆ ก่อนที่จะถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายไปจนหมดเพียงไม่กี่นาที
 
 
ผู้ก่อตั้ง บริษัท คีนน์ จำกัด ยอมรับว่า การได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในครั้งนี้ ถือเป็นงานใหญ่ เพราะที่ผ่านมาเคยกำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลไม่มากนัก เช่นในช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ทางบริษัทลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร เพื่อกำจัดคราบน้ำมันและสารอินทรีย์ ที่เกาะอยู่ตามผนังอาคารและผิวน้ำ
 
 
รวมทั้งการกำจัดคราบน้ำมันบริเวณป่าชายเลนบ้านแหลมกรวด ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ จากเหตุการณ์เรือขนส่งน้ำมันเตาชนโขดหิน ทำให้น้ำมันเตาปริมาณไม่ต่ำกว่า 2 ตัน รั่วไหลลงสู่ทะเล และพัดเข้าไปชายฝั่ง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2555  กรมควบคุมมลพิษจึงประสานให้ บริษัท คีนน์ ฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพในป่าชายเลนและผิวน้ำ เนื่องจากหากใช้สารเคมีอาจทำให้ต้นไม้ตาย และมีสารตกค้างในพื้นที่
 
 
สำหรับการกำจัดคราบน้ำมันในครั้งนี้ นายวสันต์ ประเมินว่าจะต้องใช้ 3 ขั้นตอนคือ การจำกัดพื้นที่การแพร่กระจายของน้ำมันดิบ  การฉีดพ่นสารชีวภาพบนผิวน้ำ-โขดหิน และการกำจัดคราบน้ำมันบนผิวทรายริมชายฝั่ง
 
 
ส่วนชายหาดที่มีน้ำมันลอยอยู่บนผิวทราย จะต้องตักน้ำมันส่วนใหญ่ทิ้งไปก่อน จากนั้นจะใช้ Oli Biosorb หรือผงถ่านภูเขาไฟผสมเชื้อจุลินทรีย์ ดูดซับน้ำมัน และย่อยสลายน้ำมัน โดยการฝังกลบทรายและดินบริเวณที่มีการปกเปื้อน 
 
 
โดยในวันพรุ่งนี้(31ก.ค.56)จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ไบโอเทค สำรวจและประเมินพื้นที่กำจัดคราบน้ำมัน จากนั้นเสนอแผนให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พิจารณาอนุมัติ หากไม่มีเรื่องติดขัดคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในวันพฤหัสบดีนี้เป็นอย่างช้า เนื่องจากหากปล่อยให้น้ำมันปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานเกินไป อาจส่งผลต่อระบบนิเวศโดยภาพรวม 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog