ไม่พบผลการค้นหา
"ฟ้าบ่กั้น" หนังสือรวมเรื่องสั้นของ "ลาว คำหอม" หรือคำสิงห์ ศรีนอก ถูกนักวิจารณ์ชาวกรุง มองว่าเป็นเพียงงานที่บอกเล่าถึงความยากจน ล้าหลัง และงมงาย ของชาวอีสาน
"ฟ้าบ่กั้น" เป็นหนังสือที่นักวิจารณ์วรรณกรรมต่างยกย่องมาหลายทศวรรษ ว่าดีเด่นในแง่การแสดงให้เห็นถึงความยากไร้ ล้าหลัง และงมงาย ของคนอีสาน แต่วันนี้มีนักวิจารณ์อีกกลุ่มหนึ่งตอบโต้แนวคิดนี้ โดยกล่าวว่า "ฟ้าบ่กั้น" เป็นงานเสียดสีแนวคิดคนกรุง
 
 
เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ที่ "ฟ้าบ่กั้น" หนังสือรวมเรื่องสั้นของ "ลาว คำหอม" หรือคำสิงห์ ศรีนอก ถูกนักวิจารณ์ชาวกรุง  มองว่าเป็นเพียงงานที่บอกเล่าถึงความยากจน ล้าหลัง และงมงาย ของชาวอีสาน
 
 
- วิทยากร เชียงกูล เคยกล่าวว่าหนังสือ "ฟ้าบ่กั้น"  สะท้อนให้เห็นถึงภาพชนบทที่ยากไร้ ขมขื่น งมงาย อย่างตรงไปตรงมาและมีอารมณ์ขัน" 
- สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ นักมานุษยวิทยา กล่าวว่า "ฟ้าบ่กั้น" นี้ "สื่อสภาพของสังคมชนบทให้คนเมืองได้รู้จักและวิพากษ์วิจารณ์ แล้วสะท้อนกลับไปให้คนชนบทได้เห็นถึงความเป็นตัวของตัวเอง ว่าทำไมเราถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมเราถึงช่วยตัวเองไม่ได้" 
- ส่วน ธีรยุทธ บุญมี เคยกล่าวว่า "ฟ้าบ่กั้น" มีท่วงทำนองเสียดสีตัวเอง แสดงความเปิ่น ความเซ่อ ความอวดฉลาด ที่ถูกจับได้อย่างง่ายๆ"
 
 
แต่มาวันนี้ นักวิจารณ์วรรณกรรมกลุ่มหนึ่งกำลังท้าทายมุมมองเดิมๆ 
 
 
รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่านักวิจารณ์เดิม  หมกมุ่นอยู่กับวาทกรรมที่ว่าคนอีสาน "โง่-จน-เจ็บ" จนมองข้ามสารสำคัญของ "ฟ้าบ่กั้น" 
 
 
รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ กล่าวว่าสารสำคัญของ "ฟ้าบ่กั้น" คือการเสียดสีมุมมองของคนกรุงต่อคนอีสาน เขายกตอนหนึ่งในเรื่องสั้นชื่อ "นักกานเมือง" ซึ่งตัวละครชาวอีสานกล่าวล้อคำว่า "ขุน" "หลวง" และ "พระ" ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่คนกรุงเชื่อว่าสูงส่ง  และยังกล่าวล้อเครื่องแบบขุนนางกรุงเทพฯ แบบกึ่งตลกกึ่งสมเพชว่า "คนอะไร  เอากาบหอยกาบปูมาห้อยอกไว้รุงรัง คนอย่างนี้เรียกว่า  แก่ไม่รู้จักโต ชอบของเล่นเหมือนเด็ก"
 
 
แต่ "ฟ้าบ่กั้น" ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การวิจารณ์ยศของขุนนาง  "ฟ้าบ่กั้น" ยังเสียดสีความงมงายของคนกรุง เกี่ยวกับบุญบารมีของกษัตริย์และราชนิกูลด้วย  นายราม ประสานศักดิ์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันตก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยกตัวอย่างเนื้อหาส่วนหนึ่งจากเรื่องสั้น "ไพร่ฟ้า" 
 
 
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ได้พระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาพระนครแล้ว ลาว คำหอม ต้องเรียกเก็บหนังสือ "ฟ้าบ่กั้น" จากแผงหนังสือทั้งหมด  และหลังปรากฏการณ์ "ขวาพิฆาตซ้าย" ในปี 2519 ลาว คำหอม ก็ต้องลี้ภัยไปประเทศสวีเดน
 
 
นายเสนาะ เจริญพร อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า นอกจาก "ฟ้าบ่กั้น" จะเสียดสีคนกรุงแล้ว มันก็ยังแสดงให้เห็นว่าคนอีสานก็เหมือนคนเมืองทั่วไป  ที่มีทั้งโง่และฉลาด อดอยากและมั่งมี เชื่อฟังและขบถ ไม่ได้โง่-จน-เจ็บอย่างที่วาทกรรมยุคเก่าบอก และขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้อุดมด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและเจริญในทางจิตวิญญาณอย่างที่เอ็นจีโอสายวัฒนธรรมชุมชนพยายามโฆษณา 
 
 
ฟ้าบ่กั้น ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2501  ถึงปัจจุบัน "ฟ้าบ่กั้น" ถูกตีพิมพ์แล้วถึง 22 ครั้ง และแปลเป็นภาษาต่างๆ 9 ภาษา  ฉบับล่าสุดตีพิมพ์พร้อมคำวิจารณ์ โดยสำนักพิมพ์อ่าน
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog