ไม่พบผลการค้นหา
คลื่นวิทยุลดความชื้นในข้าวและกำจัดแมลง เพื่อเป็นทางเลือก ทดแทนการใช้สารเคมีในการรมควันข้าวอย่างในปัจจุบัน
ทีมนักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประยุกต์ใช้คลื่นวิทยุลดความชื้นในข้าวและกำจัดแมลง เพื่อเป็นทางเลือก ทดแทนการใช้สารเคมีในการรมควันข้าวอย่างในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย และเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา หลังข้าวไทยเจอปัญหาสารเคมีตกค้างในช่วงก่อนหน้านี้ 
 
 
ประโยชน์อย่างหนึ่งของคลื่นวิทยุ คือการให้ความร้อนสูงในระยะเวลาสั้น ทีมนักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงนำจุดเด่นนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อลดความชื้น และกำจัดแมลงในเมล็ดข้าว เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารเคมีรมควันข้าว ทั้งฟอสฟีน และเมทิลโบรไมด์ ที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้เวลาวิจัยงานนี้นานกว่า 13 ปี
 
 
คลื่นวิทยุ เป็นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูง สามารถแทรกแซงเข้าไปในชั้นโมเลกุลของเมล็ดข้าวได้ ทำให้น้ำในเมล็ดข้าวเกิดการสั่นสะเทือนและเสียดทานกันจากเกิดความร้อนสูง ส่งผลให้ความชื้นในข้าวลดลง โดยไม่ต้องตากแดดบนลานเหมือนเก่า และยังช่วยฆ่าแมลงทุกชนิดในข้าวได้ด้วย โดยไม่ทำให้คุณภาพของข้าวเปลี่ยนแปลง เพราะใช้เวลาสั้นเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น
 
 
เทคโนโลยีการให้ความร้อนด้วยคลื่นวิทยุ Radio Frequency Heating หรือ RF ที่นำมาใช้ในงานวิจัยนี้ ยังให้ผลในลักษณะเดียวกันกับพืชชนิดอื่นด้วย ทั้งเมล็ดข้าวโพด  เมล็ดถั่ว และสมุนไพรอบแห้ง จึงอาจนำไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่อไป
 
 
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของงานวิจัยนี้ จึงสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานต้นแบบฯ ด้วยเงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท เพื่อให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจ ว่างานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม รองรับการส่งออกข้าวไทยประมาณวันละ 500 ตัน
 
 
โรงงานต้นแบบฯ จะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2557 คาดว่าใช้เวลา 1 ปี ด้วยเงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท โดยตั้งอยู่ภายในคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มีกำลังการผลิตคลื่น 30 KW (กิโลวัตต์) รองรับเมล็ดข้าวสูงสุดวันละ 24-48 ตัน มีต้นทุนดำเนินการประมาณตันละ 60-80 บาท 
 
 
แม้วิธีนี้จะใช้เงินลงทุนสูงกว่าการใช้สารเคมีรมควันข้าว แต่มีข้อดีคือใช้เวลาน้อยกว่าเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น ต่างจากสารเคมีที่ต้องรมควันนาน 7 วัน รวมทั้ง การใช้คลื่นวิทยุยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากกว่า เพราะไม่มีสารตกค้าง โดยขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังยังอยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตร 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog