เปิดข้อเท็จจริงข่าวการรมยาข้าวเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ จนทำลายชื่อเสียงข้าวไทยและสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก
กระแสข่าวในโลกโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการรมยาข้าวเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ จนทำลายชื่อเสียงข้าวไทยและสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก วันนี้ทีมข่าววอยซ์ทีวีลงพื้นที่เจาะลึกกระบวนการรมยาข้าวสารในคลังกลางของรัฐบาลที่จังหวัดปทุมธานี
ทีมข่าววอยซ์ทีวี ลงพื้นที่โกดังเก็บข้าวสารของ บริษัท แพ๊ดดี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นคลังกลางเก็บข้าวสารในโครงการของรัฐบาล ฤดูกาลผลิต ปี 2555/2556 ปริมาณกว่า 8 หมื่นตัน ข้าวสารทั้งหมดผ่านกระบวนการรมยามาแล้ว ประมาณ 6-7 ครั้ง และอยู่ระหว่างรอการระบายออก ตามนโยบายรัฐบาล ในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้
โดยบริษัท เอเซีย อินสเปคชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการรมยากำจัดมอดและแมลง ให้กับคลังแห่งนี้ ซึ่งต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านการอบรมจากกรมวิชาการเกษตร มีใบรับรองถูกต้อง และมีบัตรประจำตัวเท่านั้น
ขั้นตอนแรกของการรมยา เจ้าหน้าที่ต้องสวมใส่หน้ากากป้องกัน เพื่อความปลอดภัย จากนั้นเตรียมแผ่นพลาสติกขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อนำมาคลุมกองข้าว แบ่งแอมโมเนียมฟอสฟีน ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดคล้ายลูกเหม็น ใส่ในถุงผ้า หรือ ภาชนะพลาสติก จำนวน 20 เม็ด แล้วนำไปวางตามจุดต่างๆ ระหว่างกระสอบข้าวทุกๆ 10 กระสอบ ก่อนดึงแผ่นพลาสติกลงมาปิดคลุมทั้งหมด ใช้เทปกาวปิดขอบพลาสติก สุดท้ายนำกระสอบทรายพิเศษวางทับที่ขอบถุง เพื่อป้องกันแมลงและความชื้น
โดยปล่อยทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงเปิดพลาสติกออก เมื่อถึงเวลานั้น ยาจะระเหยไปในอากาศ ภายใน 24-72 ชั่วโมง และตัวยาจะเปลี่ยนสถานะจากเม็ดกลมๆ กลายเป็นผงละเอียดแบบนี้ และเมื่อครบกำหนด เจ้าหน้าที่จะเก็บสารรมยาเพื่อนำไปทำลายทิ้ง จากนั้นจึงกลับมารมยาอีกครั้งในทุกๆ 2 เดือน ตามระเบียบของ องค์การคลังสินค้า หรือ อคส.และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อตก.
ผจก.ทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอเซีย อินสเปคชั่น จำกัด ระบุว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการรมยาข้าว แก่ บริษัท พงษ์ลาภค้าข้าว ผู้ส่งออกรายใหญ่ของประเทศ มาโดยตลอด โดยดำเนินการตามมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ส่วนกรณีมีภาพแมวตายในโกดังเก็บข้าวสาร เชื่อว่า เป็นเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ห่างไกล ทำให้มีแมลงและสัตว์อื่นเล็ดลอดเข้าไปได้ ประกอบกับ เป็นโกดังที่ไม่ได้มาตรฐานการก่อสร้าง และความเข้มงวดของผู้ดูแลโกดังไม่เพียงพอ
สอดคล้องกับ หัวหน้าคลังกลางประจำจังหวัดปทุมธานี ที่ระบุว่า การรมยาในพื้นที่ปทุมธานี มีมาตรฐาน และทุกครั้งที่ทำการรมยา จะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อรายงานต่อต้นสังกัด
ส่วนข้อสงสัยเรื่องการใช้สารอลูมีเนียมฟอสฟีน มากกว่าค่ามาตรฐาน ในความเป็นจริงคงทำได้ยาก เพราะเป็นสารที่ต้องนำเข้าจากจีน และบริษัทผู้รับเหมา ต้องนำใบรับรองการให้บริการรมยา ไปแสดงต่อกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งรายงานสถานที่ วัตถุประสงค์การนำเข้า ตลอดจนวิธีการเก็บข้าวที่รมยาแล้ว ต่อกระทรวงกลาโหม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดเก็บวัตถุมีพิษ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่บริษัทผู้รมยา หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะใช้สารเคมีนี้ได้ตามอำเภอใจ