แม้จะเกิดเหตุเครื่องบินของสายการบินเอเชียน่า แอร์ไลน์ตกในสหรัฐฯ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่องค์กรการบินหลายแห่งยังคงยืนยันว่า การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด เมื่อเทียบกับการเดินทางแบบอื่น เช่น รถไฟ หรือรถยนต์
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เครื่องบินโบอิ้ง 777 ของสายการบินเอเชียน่าแอร์ไลน์ของเกาหลีใต้ ตกขณะลงจอดที่สนามบินนานาชาตินครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บราว 180 คน
นี่ไม่ใช่เหตุการณ์เครื่องบินตกครั้งแรกของปีนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีเหตุเครื่องบินโดยสารตกแล้ว 10 ครั้ง และมีผู้โดยสารเสียชีวิตแล้ว 50 ราย
สาเหตุของอุบัติเหตุทางเครื่องบิน มีได้มากมาย ตั้งแต่สภาพอากาศแปรปรวน เช่น ฟ้าผ่า หิมะตก มีฝุ่นจากภูเขาไฟ หรือพื้นรันเวย์กลายเป็นน้ำแข็ง ไปจนถึงเหตุการณ์เครื่องยนต์ขัดข้อง ไฟไหม้ในห้องผู้โดยสาร นกบินชน ตลอดจนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนสัญญาณ นักบินบังคับเครื่องผิดพลาด และเหตุการณ์ก่อการร้าย
แม้แต่นักบินที่อยากฆ่าตัวตาย ก็อาจเป็นสาเหตุของเครื่องบินตกได้ เจ้าหน้าที่สืบสวนของสหรัฐฯ เชื่อว่า สายการบินอียิปต์แอร์ลำหนึ่งตกเมื่อปี 2542 เพราะนักบินพยายามฆ่าตัวตาย เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งลำเสียชีวิตรวม 217 ราย
ในประวัติศาสตร์ อุบัติเหตุทางการบินครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเตเนรีเฟ ในปี 2520 ซึ่งเกิดจากเครื่องบินโบอิ้ง 747 สองลำชนกัน โดยลำหนึ่งแล่นออกมาบนรันเวย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ชนเข้ากับอีกลำหนึ่งที่กำลังร่อนลงจอด เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 583 คน
หากพิจารณาสถิติอุบัติเหตุทางการบินในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละประมาณ 1,260 คน อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้รวมผู้เสียชีวิตบนเครื่องบินที่ถูกจี้ในเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2544 เข้าไปด้วย หากไม่นับปี 2544 จะมีผู้เสียชีวิตจากการบินทั่วโลกเฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินโดยสารของสายการบินพาณิชย์ประมาณ 400-500 คนต่อปี
ตัวเลขผู้เสียชีวิตนี้อาจดูไม่เล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์แล้ว จะเห็นว่าต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้ องค์การอนามัยโลกประมาณว่า เมื่อปี 2550 อุบัติเหตุทางรถยนต์ทั่วโลกทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,230,000 คน
แต่อย่างไรก็ดี ในปีหนึ่งๆ มีผู้ใช้รถยนต์มากกว่าใช้เครื่องบินมาก ในปี 2550 มีเที่ยวบินพาณิชย์ประมาณ 30 ล้านเที่ยว แต่มีผู้เดินทางด้วยรถยนต์เป็นตัวเลขประมาณการ กว่า 7 แสนล้านเที่ยว เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าในการเดินทางด้วยเครื่องบิน เมื่อคำนวณจะพบว่าในจำนวนผู้โดยสารเครื่องบิน 1 ล้านคนในแต่ละปี จะมีผู้เสียชีวิต 16.8 คน ส่วนในจำนวนผู้โดยสารรถยนต์ 1 ล้านคน จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.8 คนเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นเสี่ยงตายมากกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ 9 เท่า
อย่างไรก็ดี การคิดคำนวณเป็นยอดผู้เสียชีวิตต่อเที่ยวการเดินทางแบบนี้ ย่อมทำให้การโดยสารเครื่องบินดูอันตรายเกินจริง เพราะเครื่องบินลำหนึ่งนั้นบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากและเดินทางระยะไกล แต่ผู้โดยสารรถยนต์แต่ละคันนั้นมีจำนวนน้อย และเดินทางในระยะสั้นๆ ทำให้มีจำนวนเที่ยวการเดินทางมาก
ฉะนั้น การวัดความเสี่ยงจึงไม่ควรดูที่จำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนเที่ยวการเดินทาง แต่ควรดูที่จำนวนผู้เสียชีวิตต่อระยะทางที่เดินทางได้แทน
คณะกรรมการคมนาคมแห่งชาติของสหรัฐฯ คำนวณพบว่า การเดินทางโดยรถยนต์นั้นมีจำนวนผู้เสียชีวิต 1.7 คนต่อระยะทาง 1 ร้อยล้านไมล์ ส่วนการเดินทางโดยเครื่องบินนั้นมีผู้เสียชีวิต 0.013 คนต่อระยะทาง 1 ร้อยล้านไมล์เท่านั้น นี่หมายความว่า ในระยะทางเท่ากัน การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นปลอดภัยกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ถึง 130 เท่า
ในเมื่อการเดินทางโดยเครื่องบินนั้นปลอดภัยกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ในระยะทางเท่ากัน ทำไมจึงมีคนกลัวการนั่งเครื่องบินมากกว่าการนั่งรถยนต์? คำตอบอาจเป็นว่า เหตุการณ์เครื่องบินตกนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตทีละมากๆ และเป็นข่าวไปทั่ว ในขณะที่อุบัติเหตุรถยนต์นั้นไม่เป็นข่าวมากเท่า คนทั่วไปจึงมองว่าเครื่องบินมีความเสี่ยงมากกว่า