สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า เขตจตุจักร มีค่าเฉลี่ยปริมาณขยะมูลฝอยต่อคนต่อวัน สูงที่สุดในประเทศไทย
ข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า เขตจตุจักร มีค่าเฉลี่ยปริมาณขยะมูลฝอยต่อคนต่อวัน สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก และมีแหล่งชุมนุมขนาดใหญ่หลายจุด ทั้งสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า และสถานีขนส่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงผลักดันโครงการคัดแยกขยะ พร้อมกับสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน เพื่อให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ขยะล้นเมือง" คือปัญหาด้านสาธารณสุขอีกอย่างหนึ่งของคนกรุงเทพฯ สะท้อนได้จากข้อมูลการเก็บขยะมูลฝอยของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2554 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2 ต่อปี โดยในปี 2554 มีปริมาณขยะมูลฝอยสูงถึงวันละ 9,126 ตัน
การจัดเก็บและกำจัดขยะมหาศาลเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนช่วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ลดการใช้กระดาษ ถุงพลาสติก และกล่องโฟม หันไปใช้ถุงผ้า หรือกล่องบรรจุอาหาร ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ และยังทำให้การกำจัดขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากเปรียบเทียบการสร้างขยะมูลฝอยต่อวันจะพบว่า เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการสร้างขยะมูลฝอยมากที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 2 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน มากกว่าอัตราการสร้างขยะมูลฝอยของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.65 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตจตุจักร เปิดเผยว่า ปริมาณขยะมาจากจำนวนประชากรในเขต ที่เพิ่มขึ้นเป็น 160,000 คน ทั้งประชากรแฝง และประชาชนที่สัญจรไปมาในเขตนี้ เพื่อจับจ่ายใช้สอยในห้างสรรพสินค้า พักผ่อนในสวนสาธารณะ และเดินทางด้วยรถโดยสารที่สถานีขนส่ง จึงทำให้แต่ละวันมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 330 ตัน
สำนักงานเขตจตุจักร จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดโครงการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลแบบครบวงจร โดยดัดแปลงรถเก็บขยะที่มีอยู่กว่า 40 คัน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือรถสีฟ้า เก็บขยะทั่วไปที่ไม่เน่าเสีย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และรถสีเหลือง เก็บขยะที่เป็นเศษอาหารเน่าเสียง่าย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยจะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคมนี้ เฉพาะแขวงจตุจักร จากจำนวน 5 แขวงในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะกว่า 70 คน สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย ทั้งรองเท้าหนังหุ้มส้น ถุงมือยาง ผ้ากันเปื้อน และหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะ เกิดอาการบาดเจ็บและป่วยจากการปฎิบัติงาน เนื่องจากขยะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคหลากหลายชนิด และบางส่วนเป็นขยะอันตราย ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีและสารพิษ