ปัจจุบัน ทั่วโลกมีชาติที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ เหลือน้อยกว่าชาติที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ถึง 4 เท่า
ปิดท้ายรายงานพิเศษชุด 81ปี อภิวัฒน์สยาม อำนาจสูงสุด(ยังไม่)เป็นของราษฎร วอยซ์ทีวี ได้รวบรวมข้อมูลระบอบการปกครองของประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามตำแหน่ง และที่มาของประมุขในแต่ละประเทศ ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีชาติที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ เหลือน้อยกว่าชาติที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ถึง 4 เท่า
การปกครองของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ การปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ และการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ
การปกครองทั้งสองแบบนี้ มีความแตกต่างที่ชัดเจน คือ ตัวผู้นำ หรือประมุขของประเทศ ซึ่งมีที่มาต่างกัน โดยในระบอบกษัตริย์ ผู้ปกครองประเทศเกือบทั้งหมดสืบเชื้อสายกันภายในหมู่เครือญาติ และมีชื่อเรียกกันไปต่างๆ นานา อาทิ พระมหากษัตริย์ พระราชินี สุลต่าน หรือพระจักรพรรดิ
แต่ระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแพร่หลาย ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 18 อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเกี่ยวกับสิทธิ และความเท่าเทียมกันของคนในสังคม ตลอดจนค่านิยมเรื่องเสรีภาพ และประชาธิปไตย ทำให้ประมุขของประเทศส่วนใหญ่ มาจากสามัญชน และมีชื่อเรียกตำแหน่งว่า ประธานาธิบดี
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น พบว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีประเทศทั้งหมด 206 ประเทศ ในจำนวนนี้ 193 ประเทศ เป็นสมาชิกยูเอ็น และมี 16 ประเทศ ยังคงมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตน
หากเปรียบเทียบรูปแบบการปกครองแล้วจะพบว่า ล่าสุด ทั่วโลกมีประเทศซึ่งยังคงมีกษัตริย์เป็นประมุขเหลือเพียง 45 ประเทศ หรือราว 22 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประเทศทั้งหมดของโลก ในจำนวนนี้ เป็นชาติในเครือจักรภพ ซึ่งมีพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ เป็นประมุขเหมือนกัน 16 ประเทศ
ส่วนที่เหลืออีก 29 ประเทศ รวมถึงนครรัฐวาติกัน ถือเป็นดินแดนที่มีกษัตริย์เป็นของตนเอง
หากแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า ยุโรป คือ ดินแดนที่มีกษัตริย์เป็นประมุขมากที่สุด โดยมีทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ อันดอร์รา เบลเยียม เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน ลิกเตนสไตน์ โมนาโก และนครรัฐวาติกัน
ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีทั้งหมด 8 ประเทศ คือ ภูฏาน ตองกา ซามัว ญี่ปุ่น มาเลเซีย บรูไน ไทย และกัมพูชา
ขณะที่ตะวันออกกลาง มีชาติซึ่งปกครองด้วยกษัตริย์ทั้งหมด 7 ประเทศ ประกอบด้วย บาห์เรน จอร์แดน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ปิดท้ายด้วยทวีปแอฟริกา มีกษัตริย์ปกครองเพียง 3 ประเทศ คือ โมร็อกโก สวาซิแลนด์ และเลโซโท
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ทวีปอเมริกา ทั้งในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ไม่มีชาติใดที่มีกษัตริย์ปกครอง หากไม่นับรวมชาติที่อยู่ภายใต้เครือจักรภพอังกฤษ อย่างแคนาดา บาฮามาส หรือจาเมกา
ชาติซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตามที่กล่าวมาส่วนใหญ่ ล้วนมีกษัตริย์ ซึ่งอำนาจถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ โดยหากไม่นับรวมนครรัฐวาติกัน จะมีเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ที่ยังคงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบที่กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเพียงผู้เดียว
นักวิเคราะห์ บอกว่า เหตุผลที่ทำให้ระบอบกษัตริย์ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลกในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา เกิดจากธรรมชาติของระบอบกษัตริย์ ที่เชื่อมโยงกับระบอบอำนาจนิยม และขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้ หนทางเดียวที่จะช่วยให้ระบอบกษัตริย์ ยังคงอยู่รอดต่อไปได้ในโลกสมัยใหม่ คือ การจำกัดอำนาจ และสิทธิของกษัตริย์ไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อ และค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน