วาระ 79 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านเรื่องราวของอธิการบดี 4 คนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา
งานหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับวาระ 79 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ นักวิชาการและศิษย์เก่า ร่วมกันเล่าความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านเรื่องราวของอธิการบดี 4 คน โดยชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา
งานเสวนาในหัวข้อ "ก้าวสู่ 80 ปีธรรมศาสตร์ : มองผ่านผู้ประศาสน์การ/อธิการบดี มธก.-มธ." คือนายปรีดี พนมยงค์ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
มีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คือ
- นายฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- และหม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เกิดขึ้นในปี 2477 โดยนายปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การ และเกิดขึ้นในฐานะ เป็นผลผลิตโดยตรง จากการอภิวัฒน์ประเทศ ในปี 2475 เพื่อให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง เนื่องจากบ้านเมืองในขณะนั้น อยู่ภายใต้วิกฤติทางเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง นายปรีดีและคณะราษฎร จึงก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นมา เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำของประชาชนผ่านการศึกษา
การเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เพราะมีการเปลี่ยนชื่อและระบบมหาวิทยาลัย มาเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตัดคำว่า "การเมือง" ออกไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็พัฒนามหาวิทยาลัยขึ้นในหลายด้าน
สำหรับยุคของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ และนายป๋วย อึ้งภารณ์นั้น ถือเป็นยช่วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เพราะนักศึกษามีส่วนร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม โดยนายสัญญา ในฐานะอธิการบดี เปิดพื้นที่ให้แก่นักศึกษาได้แสดงออกอย่างเสรี
แต่บรรยากาศเสรีภาพ ก็เกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะมีการล้อมสังหารหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ระหว่างที่นายป๋วย เป็นอธิการบดี เหตุการณ์ครั้งนั้น นายป๋วย ที่พยายามปกป้องนักศึกษา ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และหลังจากนั้น กิจกรรมนักศึกษาก็ถูกกวาดล้าง จนธรรมศาสตร์กลับเข้าสู่ความซบเซาทางการเมือง จนถึงปัจจุบัน