ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากการประกาศยุติบทบาทของ Permas องค์กรเครือข่ายนักศึกษาในพื้นที่สามจังชายแดนใต้ ได้เกิดคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้น การยุติบทบาทในครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Permas มีความสำคัญอย่างไรต่อสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 'ปาตานี'

'วอยซ์ออนไลน์' พาย้อนรอยการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา และก้าวต่อไปหลังจากนี้ กับอดีตประธาน Permas คนสุดท้าย 'ซุลกิฟฟี ลาเตะ'


ก่อเกิดจากความปรารถนาสันติภาพ และการปกครองตนเองใน 'ดินแดนปาตานี'

ซุลกิฟฟี เปิดเผยว่า Permas เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของความขัดแย้งที่ต่อสู้กันด้วยอาวุธ ระหว่างกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ที่ต้องการเอกราช และรัฐในฐานะที่มีหน้าที่ต้องบูรณภาพแห่งดินแดน ดังนั้นการเกิดขึ้นของ Permas จึงเกิดขึ้นท่ามกลางผู้คนปาตานีที่ต้องการแสวงหาทางออกเพื่อสันติภาพ 

Permas เกิดขึ้นโดยการเอาหลักการสหประชาชาติชุดหนึ่งที่เรียกว่า self determination หรือการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเอง มาเป็นประเด็นหลักในการชูธงรณรงค์ เพื่อสื่อสารให้สังคมไทยสังคมปาตานีและสังคมระหว่างประเทศเห็นว่า พื้นที่นี้มีความขัดแย้งร้าวลึกมานาน และมีผู้คนที่ต้องการปลดปล่อยตนเองออกจากการกดทับของรัฐไทย สิ่งที่ Permas ต้องการเห็นคือ การแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยการรับฟังเสียงของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยที่คนปาตานีสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตัวเองได้อย่างเสรี

Permas คือการรวมตัวกันขององค์กรสมาชิก 20 กว่าองค์กร ก่อตั้งเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ที่ประชุมนั้นเรียกว่าที่ประชุมสมัชชา Permas ซึ่งอำนาจสูงสุดก็จะเป็นขององค์กรสมาชิกของ Permas กระบวนการก็จะมีการเลือกประธานตามกระบวนการประชาธิปไตยในแต่ละวาระการครบรอบ 

ซุลกิฟฟี กล่าวต่อว่า ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน โดยปกติแล้วพอถึงคราวหมดวาระแล้วก็จะมีกระบวนการเลือกประธานเหมือนปกติทั่วไป แต่ครั้งนี้เององค์กรสมาชิกกลับมาคุยกันและทบทวนแนวทางที่ควรจะเป็นไปที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมในการต่อสู้ ร่วมถึงเรื่องปะชาธิปไตย ทิศทางอนาคตทางการเมือง บรรยากาศที่คนรุ่นใหม่เองก็ดันเพดานในประเด็นที่มันแหลมคมมากขึ้น ผนวกกับที่บรรยากาศทางการเมืองปาตานี ก็มีการเปลี่ยนผันทางการเมืองเยอะแยะมากมายที่ผ่านมา เช่นมีการเลือกตั้ง มีกลุ่มองค์กรที่เกิดใหม่อย่าง Patani paru และ THE PATANI หรือแม้กระทั่งองค์กรภาคประชาสังคมอย่าง สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ หรือ cap ก็มีการปรับตัวครั้งสำคัญ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัด ในบรรยากาศทางการเมืองที่ผ่านมา คือเราเห็นบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่มีการตื่นตัวในความหมายว่าเป็นเสรีชนมากขึ้น นั้นจึงมาสู่การทบทวนครั้งสำคัญว่า องค์กรที่เป็นขบวนนักศึกษาร่วมถึง Permas ยังฟังก์ชั่นอยู่ไหม ต่อการเคลื่อนไหวในบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่

ซุลกิฟฟี ลาเตะ.jpeg
  • ซุลกิฟฟี ลาเตะ ประธาน Permas คนสุดท้าย


Permas ยุติบทบาท แต่ความต้องการกำหนดอนาคตตัวเองยังเดินต่อ

ซุลกิฟฟี เล่าถึงกระบวนการยุติบทบาทของ Permas ว่า เป็นไปโดยการทำประชามติกระบวนการปกติของสมาชิกในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุด ซึ่งที่สุดแล้วเป็นเรื่องของที่ประชุม เป็นเรื่องของสมาชิกที่เห็นร่วมกัน 

โดยการยุติบทบาทครั้งนี้ มาจากการถกเถียงว่า เราอยากเห็นอนาคตคนรุ่นใหม่นักศึกษาในพื้นที่อย่างไร และเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้คนตื่นตัวมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นในการถกเถียงก็มีหลายความเห็นทั้งกลุ่มที่มองว่า Permas ไปต่อได้ ยังมีเสียงของความรู้สึกว่า Permas ก็สามารถเป็นองค์กรทางการเมืองที่สำคัญในพื้นที่ แต่เมื่อผลปรากฎออกมาให้ยุติบทบาท ก็เป็นเรื่องที่ต้องเคารพซึ่งกันและกันในกระบวนการประชาธิปไตยในกระบวนการที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในคะแนนเสียงที่จะโหวต

อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่า ในอนาคตอาจจะเกิดองค์กรใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเด็นใหม่ๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในพื้นที่คนรุ่นใหม่เองก็มีความคิดทะลุเพดานหลายอย่าง มีการแสดงออกว่าต้องการเอกราช หรือมุ่งเน้นเรื่องความเป็นชาติ ก็เป็นไปได้ แต่สำหรับ Permas การยุติบทบาทนั้นเป็นไปเพื่อตอบยุทธศาสตร์ภาพรวมในการพิจารณา การพิเคราะห์ ทิศทางทางการเมืองและความเป็นไปในทางการเมืองต่อทั้งระดับประเทศและในพื้นที่

"ที่จริงแล้วการยุติองค์กรอาจจะไม่จำเป็นต้องประกาศสาธารณะก็ได้ แต่สิ่งที่เราทำคือพยายามทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการไปของเรา ไม่ใช่การไปเพราะล้มเหลวในทางยุทธศาสตร์ แต่เป็นการไปด้วยการให้เกียรติประชาชน ด้วยการบอกว่าวันนี้องค์กรที่ชื่อว่า Permas องค์กรที่รวบรวมความฝันของคนที่อยากเห็นสันติภาพนั้นสิ้นสุดเพียงเท่านี้"

"มันไม่ใช่เป็นบรรยากาศในแง่ลบที่เราคิดว่าสามารถไปต่อไม่ได้ แต่เป็นการพูดคุยกันในแง่บวกว่าเราจะผลักดัน ประเด็นปาตานียังไงต่อ ในบริบททางการเมืองที่เปลี่ยน สิ่งที่เปลี่ยนไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นเรื่องความเติบโตทางการเมืองของประชาชน ความเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่เป็นปัจเจกชนมากขึ้น คนสามารถแสดงออกทางการเมืองของตนเองเองได้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมัยก่อนจะเห็นคนรุ่นใหม่อายุ 25 เข้าไปลงเล่นการเมืองท้องถิ่นเห็นได้น้อยมากหรือแถบจะไม่เห็นเลย แต่ปรากฏว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่อาสาลงเป็นสมาชิก อบต.สมาชิกเทศบาล เขาตื่นตัวมากขึ้นดังนั้นการตื่นของเขาก็เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมทางการปาตานี"

ทั้งนี้เขาย้ำด้วยว่า เรื่องความขัดแย้งภายใน Permas แทบจะไม่มีข่าวความขัดแย้งภายใน เราแทบจะไม่มีข่าวในแง่ลบว่าองค์กรฐานตีกัน คณะกรรมการบริหาร Permas ไปมีปัญหากับองค์กรฐาน แทบไม่ได้ยินข่าวแบบนี้ ดังนั้นปฏิเสธได้เลยว่าเรื่องแบบนี้ไม่อยู่ในสมการการพิจารณาในการทำให้องค์กรไม่ไปต่อ มันเป็นฉันทามติรวม มันเป็นกระบวนการปกติตามกระบวนการประชาธิปไตย ที่เรารู้สึกร่วมกันว่า เราอยากเห็นการเติบโตของคนรุ่นใหม่ยังไงต่อไปในอนาคต

"อีกประเด็นหนึ่งคือหลายคนบอกว่าเรากังวลเรื่องการคุกคาม ที่จริง Permas อยู่มา 8 ปีเรื่องการคุกคามแทบจะเป็นเรื่องเล็กของเรา เราอยู่ในบรรยากาศการบังคับใช้กฎหมายพิเศษมีการคุกคามอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลที่สุด ไม่ใช่เรื่องการคุกคาม ที่ผ่านมาเราก็รับมือได้ดีมาตลอดอยู่แล้ว เราก็ทำงานความคิดกับประชาชนในการที่จะปกป้องซึ่งกันและกันมาตลอด"


2 ปีในฐานะประธาน Permas กับภารกิจต่อต้านเผด็จการ

ซุลกิฟฟี เล่าถึงสิ่งที่ได้ทำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาระหว่างรับตำแหน่งเป็นประธาน Permas ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง และมีผู้เล่นในสนามการเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น และนั่นก็เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของตัวเขาเอง และของหลายคน สิ่งที่ Permas ออกมารณรงค์ในเวลานั้นคือ การสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อให้ผลเลือกตั้งออกมาได้เสียงข้างมาจนสามารถขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากการเมืองได้ แต่ถึงที่สุดก็เจอกับเทคนิคการคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบพิสดารที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจต่อไป

หลังจากนั้น เมื่อปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เขาชี้ว่า เวลานั้นได้เห็นการเติบโตทางการเมืองของประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประเด็นทางการเมืองมากขึ้น ในครั้งนั้น Permas เองก็มีโอกาสจัดแฟลชม็อบในและนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย รวมถึงในที่สาธารณะ 

"ผมคิดว่าเราน่าจะเป็นแฟลชม็อบที่จัดนอกพื้นที่มหาลัยเป็นม็อบแรกในสามจังหวัด ในบรรยากาศที่มีกฎอัยการศึก คือสิ่งเหล่านี้มันคือการเติบโตทางความคิดของเยาวชน ความไม่กลัวของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ในขณะเวลานั้น ที่กรุงเทพฯ ก็มีการแสดงออก เราได้มีโอกาสร่วมต่อสู้กับเพื่อนฝ่ายประชาธิปไตยที่กรุงเทพในการพลักดันวาระปาตานี เอาเรื่องการกำหนดชะตากรรมตนเองไปพูดในเวทีระดับที่รวบรวมคนที่ไม่ทนแล้วกับ พลเอกประยุทธ์ ไม่ทนแล้วกับระบอบเผด็จการที่เป็นอยู่ตอนนี้ สิ่งนี้เป็นพลวัตสำคัญที่ทำให้เราเองได้รับการสนับสนุนจากประชาชน คนข้างบ้านที่ไม่เคยเข้าใจเราเลย เขาก็ให้ความเข้าใจเรามากขึ้น มันเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรว่าเรายืนหยัด"

การเดินทางเข้ากรุงเทพ ร่วมเดินทางไปพร้อมกับนักกิจกรรมในกรุงเทพเวลานั้น ซุลกิฟฟี ย้ำว่า เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่า ถ้าประเทศไทยไม่เปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย การกำหนดอนาคตของตนเองที่เป็นหลักการทางประชาธิปไตยก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และปัญหาความขัดแย้งภายในพื้นที่ปาตานีก็จะดำรงอยู่ต่อไป

"การยุติบทบาทของเราไม่ใช่ความล้มเหลว เรายุติบทบาทท่ามกลางการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองการวิเคราะห์ การเติบโตทางความคิดของประชาชน ดังนั้นต่อให้ไม่มี Permas แต่จิตวิญญาณแบบ Permas การต่อสู้ของเยาวชนคนหนุ่มสาวจากคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปาตานี มันก็เติบโตในสังคม สมัยก่อนเราแทบจะไม่เห็นเยาวชนไปเยี่ยมสุสานนักรบที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ปรากฎว่าตอนนี้มีเป็นพัน ประชาชนเขาไม่ได้กลัวเขายืนยันว่าการใช้เสรีภาพเป็นเรื่องปกติ 

แสดงให้เห็นถึงความห่วงแหนถึงความรู้สึกดีๆ ที่มีให้ต่อผู้เสียชีวิต ในฐานะที่เขาต่อสู้ติดอาวุธ ในชุดตัวแทนความคิดทางการเมืองของเขา ซึ่งเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่มันปรากฏแล้วไม่สามารถปฏิเสธได้คือ เยาวชนคนหนุ่มสาวไม่ได้กลัว ไม่จำเป็นต้องถูกชี้นำจากองค์กรใด ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรในการชี้นำเขา เขาสามารถเติบโตทางความคิดเขาเองได้ ดังนั้นผมจะบอกว่าถ้าในอนาคตเยาวชนปาตานี หรือนักศึกษา เขาอาจจะถกเถียงกันใหม่ก็ได้ว่า สุดท้ายแล้วการรวมตัวกันเป็นองค์กรมันสำคัญ ถึงตอนนั้นก็อาจมีองค์กรใหม่ และพูดคุยในประเด็นที่แหลมคมกว่า Permas ก็เป็นไปได้"


ไทม์ไลน์การเคลื่อนไหวของ Permas

▪️ 2551 ก่อตั้งสหพันธ์นิสิต นักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ หรือ( สนน.จชต.) จากกรณีเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่หน้ามัสยิดกลางปัตตานี เช้าวันที่ 31 พ.ค. 2550 โดยการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน , กลุ่ม (PNYS) , กลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์และกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อเรียกร้องให้ถอนทหารพร้อมยกเลิกการใช้กฏอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 

▪️2256 เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญ 1. ถล่มค่ายทหารโดยมีการส่วมชุดปฎิบัติการครั้งแรก ของกลุ่มขบวนการติดอาวุธถือเป็นการประกาศการมีอยู่ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน 2. การพูดคุยเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างกลุ่มขบวนการติดอาวุธ BRN นำโดย กับ รัฐบาลไทย 

ภายหลังทาง Permas เล็งเห็นถึงการคุกคามจากฝ่ายความมั่นคงอย่างนัก นำไปสู่การเปิดเวทีในพื้นที่สาธารณะคู่ขนานกับเวทีการพูดคุยเจรจาสันติภาพเพื่อสะท้อนเสียงของคนในพื้นที่ต่อการปฎิการของฝ่ายมั่นคงและความต้องการของประชาชนในขณะนั้น โดยคำที่ใช้คับเคลื่อนในคณะนั้นคือ Satu Patani หมายถึง ความเป็นเอกภาพปาตานี 

▪️2556 มีการปรับโครงสร้างจากเดิม สหพันธ์นิสิต นักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ( สนน.จชต.) เป็น สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือที่เรารู้จักกันในนาม Permas เป็นการปรับปรุงโครงสร้างขนานใหญ่จากมีเลขาธิการสู่การมีประธานดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และ ยุบสมาพันธ์ นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทั้งหมด โดยเริ่มมีองค์กรฐานเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ

▪️2557 ขับเคลื่อนประเด็น self determination พลักดันประเด็นในพื้นที่สู่เวทีสาธารณะมากขึ้น เปิดพื้นที่ทางการเมือง มีการลงพื้นที่พร้อมด้วยสมาชิกองค์กรฐาน โดยเน้น ผู้ที่ได้รับผละกระทบจากเหตุการณ์ และ กรณีเกิดเหตุการปิดล้อม 

▪️2557 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ (คสช.) อันมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ส่งผลให้การพูดถึงประเด็นทางการเมืองส่วนกลางและในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ปาตานี ทุกรุปแบบถูกห้ามพร้อมบังคับใช้กฏหมายอย่างเด็ดขาด 

สุไฮมี ดูละสะ.jpeg
  • สุไฮมี ดูละสะ อดีตประธาน Permas ระหว่างปี 2557-2558

▪️2558 ในการดำรงตำแน่งปีที่ 2 ของสูไฮมี ดูละสะ หลังจากการปิดพื้นที่ทางการเมืองโดยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา ทาง Permas ได้ปรับรูปแบบจากงานเคลื่อนมาโฟกัสงานจัดตั้งมากยิ่งขึ้น ขณะเดี่ยวกันก็เชื่อมประเด็นประชาธิปไตยกับองค์กรต่าง ๆ ที่คับเคลื่อนในส่วนกลางมากขึ้น 

ภายหลังจากการปิดพื้นที่ทางการเมือง สุไฮมี ดูละสะ ได้ไปร่วมการชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน พร้อมกับธนาธรและนักกิจกรรมอีก 15 คน และถูกเรียกตัวรับทราบข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา ในปี 2562 

▪️2559 ขับเคลื่อนประเด็น (Self-Determination Right) สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ต่อพื้นที่สาธารณะมากขึ้น รณรงค์ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าเป็นการคับเคลื่อนที่แข็งแข็งในเวลานั้น 

▪️2561-63 ประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ ปาตานี เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น จากการขึ้นปราศรัยในเวทีการชุมนุม ‘ขีดเส้นตาย ไล่เผด็จการ’ วันที่ 16 ส.ค. 2563 โดย ซูกริฟฟี ลาเตะ

(ข้อมูลโดย สุไฮมี ดูละสะ)

สัมภาษณ์/เรียบเรียง โดย มุมิน รัตนชนานนท์ นักศึกษาฝึกงาน Voice Online จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี