ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ ด.1597/2531 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง
- นายผาสุก ขาวผ่อง หรือพระราชปัญญาโกศล หรือเจ้าคุณอุดม อดีตรองเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ จำเลยที่ 1 (เสียชีวิตแล้ว) ,
- นายอำไพ แก้วพงษ์ ผู้ใกล้ชิดเจ้าคุณอุดม จำเลยที่ 2 (เสียชีวิตแล้ว)
- นายสันติ สวนแก้ว อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพ ลูกศิษย์ใกล้ชิดของเจ้าคุณอุดม จำเลยที่ 3 (เสียชีวิตแล้ว)
- นายอรุณ เพชรรัตน์ จำเลยที่ 4
- นายมนตรี จำนง ครูโรงเรียนนวมินราชานุสรณ์ จ.นครนายก จำเลยที่ 5
- น.ส.เฉลิมศรี อู่ทรัพย์ จำเลยที่ 6 (เสียชีวิตแล้ว)
- นายสมัย กาจู๊ด ลูกศิษย์ใกล้ชิด จำเลยที่ 7 (เสียชีวิตแล้ว)
- น.ส.พัทยา พิมพ์สอาด อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพ ฯ จำเลยที่ 8
- นายอารี ศาสตรสาระ อดีตข้าราชการพลเรือน ช่วยงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 9
- นายพิภพ บุญดิเรก อดีตข้าราชการพลเรือน ช่วยงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 10
- นายเมธี บริสุทธิ์ อดีตข้าราชการพลเรือนประจำในสำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 11 (เสียชีวิตแล้วระหว่างอุทธรณ์คดี)
- นายสุรเดช เตชะคุปต์ จำเลยที่ 12 (เสียชีวิตแล้ว)
- นายไพบูลย์ ทองมิตร อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 13 (เสียชีวิตแล้ว)
- นางชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตข้าราชการพลเรือนประจำสำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 14
- นายขุนทอง ภูผิวเดือน อดีต รมช.ศึกษาธิการ จำเลยที่ 15 (เสียชีวิตแล้ว)
และนายวิโรจน์ ชาทอง อดีตศึกษานิเทศก์ 6 กรมสามัญศึกษา จำเลยที่ 16
ในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จูงใจให้บุคคลมอบทรัพย์สิน , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กระทำการกรอกข้อความอันเป็นเท็จ , ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินเพื่อกระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบ , ร่วมกันปลอมดวงตราของทบวงการเมือง องค์การสาธารณะ หรือของเจ้าพนักงาน และร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ,149 , 162 251 และ 265 จากกรณีระหว่างปี 2522 - 2529 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอมแปลงเอกสารใบอนุโมทนาบัตร ที่รับเงินบริจาคจากประชาชนที่พวกจำเลยได้จูงใจให้บริจาคทรัพย์สินเพื่อยื่นเอกสารต่อกระทรวงศึกษาธิการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 ส.ค.31
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 เม.ย.48 ว่า จำเลยที่ 4,5,8,9 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานซึ่งใช้ตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น มาตรา 148 และกระทำการเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่
- ผู้กระทำผิด ตามมาตรา 86 ให้จำคุกจำเลยที่ 4 จำนวน 113 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุก 1,130 ปี
- จำเลยที่ 5 จำนวน 117 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุก 1,170 ปี
- จำเลยที่ 8 จำนวน 192 กระทงๆ ละ10 ปี รวมจำคุก 1,920 ปี
- จำคุกจำเลยที่ 9 กระทำผิด ม.149 จำนวน 98 กระทงๆ 15 ปี และม.148 ประกอบม.86 อีก 1 กระทง เป็นเวลา 10 ปี รวมจำคุก 2,660 ปี และจำคุกจำเลยที่ 11 กระทำความผิด ม.149 จำนวน 98 กระทงๆ ละ 15 ปี และม.148 ประกอบ ม.86 อีก 1 กระทงเป็น 10 ปี รวมจำคุก 1,480 ปี
แต่เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 4 , 5, 8 , 9 และ 11 ทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) แล้ว ให้จำคุกจำเลยไว้คนละ 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 10, 14 และ 16 ไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่ากระทำผิดตามฟ้อง ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง และให้ริบของกลางตามบัญชีทรัพย์ของกลาง
ส่วนจำเลยที่ 1, 2 , 3 , 6, 7, 12 , 13 และ15 ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบเนื่องจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว
ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 พ.ย.53 พิพากษาแก้เพิ่มโทษจำคุกนายอรุณ จำเลยที่ 4 จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1,130 ปี เป็นเวลา 2,234 ปี และนายมนตรี ครูโรงเรียนนวมินราชานุสรณ์ จ.นครนายก จำเลยที่ 5 จาก 1,170 ปี เป็น 2,180 ปี ขณะที่ให้ยกฟ้องนายอารี อดีตข้าราชการพลเรือน ช่วยงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 9 ในม.148 แต่ยังให้จำคุกจำเลยที่ 9 ตาม ม.149 จำนวน 98 กระทงเป็นเวลา 1,470 ปี ขณะที่เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 4 , 5, 9 ทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) แล้ว ให้จำคุกจำเลยไว้คนละ 50 ปี
ส่วน น.ส.พัทยา อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพฯ จำเลยที่ 8 พิพากษายืนจำคุกเป็นเวลา 1,920 ปี เช่นเดียวกับนายเมธี อดีตข้าราชการพลเรือนประจำในสำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 11 พิพากษายืนจำคุกเป็นเวลา 1,480 ปี และพิพากษายืนยกฟ้องนายพิภพ อดีตข้าราชการพลเรือน ช่วยงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 10 , นางชมัยภร อดีตข้าราชการพลเรือนประจำสำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 14 และ นายวิโรจน์ อดีตศึกษานิเทศก์ 6 กรมสามัญศึกษา จำเลยที่ 16
ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 8 - 9 ฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่8ว่าได้ร่วมสนับสนุนจำเลยที่1ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดตามมาตรา 148 ว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนเอง หรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 148 นั้นจะต้องได้ความว่า ผู้นั้นเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น แต่หากผู้นั้นใช้อำนาจขณะที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งก็ไม่อาจเป็นความผิด ซึ่งชั้นพิจารณาได้ความจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่ว่า ขณะที่จำเลยที่1เป็นรองเจ้าอาวาสได้มอบหมายหน้าที่ให้ดูแลในส่วนของเมรุและสุสานหลวงไม่ได้ดูแลในส่วนของการยื่นคำขอเครื่องราชฯ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 8 ร่วมสนับสนุนไปร่วมกระทำผิดดังกล่าว
ส่วนจำเลยที่ 9 ได้ความว่าคดีนี้โจทก์ระบุพยานบุคคลไว้ 508 ปาก แต่สามารถนำพยานเข้าสืบได้เพียงบางส่วน ซึ่งกลุ่มพยานในนั้น 17 คน แม้จะให้การถึงจำเลยที่ 9 แต่ก็ไม่ยืนยันได้ว่าเห็นจำเลยเรียกรับเงิน ส่วนพยานสองปากที่โจทก์นำสืบอ้างว่ารู้เห็นจำเลยที่9รับและส่งมอบเช็คเงินให้กับจำเลยที่1 นั้นพยานดังกล่าวก็เป็นผู้ร่วมกระทำผิดที่เจ้าพนักงานได้ร่วมกันไว้เป็นพยานซึ่งมีน้ำหนักรับฟังได้น้อย พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 9 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 8-9 สูงสุดตามกฎหมายเป็นเวลา 50 ปีศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษายกฟ้อง