ไม่พบผลการค้นหา
คดีอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอเปิดโปงโครงการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า PRISM จนก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน
คดีอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอเปิดโปงโครงการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า PRISM จนก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า โครงการนี้มีที่มา 
 
สหรัฐอเมริกา นับเป็นประเทศมหาอำนาจที่นอกจากจะมีกำลังทางทหารที่ก้าวล้ำแล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังมีเทคโนโลยีข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สหรัฐฯมีโครงการลับต่างๆออกมา เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในการกำหนดทิศทางนโยบายสำหรับรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงของชาติ
 
 
โครงการล่าสุดที่ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างโครงการเฝ้าระวังภัย หรือที่รู้จักกันในชื่อ "PRISM" เป็นโปรแกรมตรวจจับข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือเอ็นเอสเอ เป็นผู้ดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อทดแทนโครงการเฝ้าระวังการก่อการร้ายในสมัยรัฐบาลของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยในแรกเริ่มนั้น โครงการดังกล่าว ถูกวิจารณ์ในเรื่องข้อกฎหมาย เพราะดำเนินการไปโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายตุลาการ แต่ในที่สุด ศาลได้มีคำสั่งรับรองโครงการนี้ เมื่อปี 2550 และมีกำหนดดำเนินการต่อไปได้จนถึงปี 2560
 
 
ตามเอกสารโครงการที่ได้รับการเปิดโปงโดยนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ระบุว่า PRISM เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตรวจจับข้อมูลในเชิงลึก ซึ่งสามารถตรวจจับการติดต่อสื่อสารได้แบบเรียลไทม์ โดยโปรแกรมจะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการระบุเป้าหมาย ที่เข้าใช้บริการเว็บไซต์ในสหรัฐฯจากนอกประเทศ หรือแม้แต่พลเมืองอเมริกันที่ติดต่อสื่อสารในเว็บไซต์ของต่างประเทศ ทำให้ได้ข้อมูลที่ เอ็นเอสเอ ต้องการไม่ว่าจะเป็น  อีเมล์  วีดีโอ  คลิปวีดีโอเสียงสนทนา  รูปภาพ  ไฟล์ที่ถูกโอน  การแจ้งเตือนเข้าระบบ   หรือแม้แต่ข้อมูลบนเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์คอีกด้วย 
 
 
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า นักวิเคราะห์จะค้นหาข้อมูล ได้โดยใช้คำค้นหา เพื่อสืบหาเป้าหมายที่เข้าข่ายต้องสงสัยคุกคามความมั่นคง โดยนักวิเคราะห์ ต้องมีความมั่นใจเกินครึ่งว่า เป้าหมายนั้นไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน แต่กระบวนการนี้ ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะไม่มีชาวอเมริกันตกเป็นเป้าของการสอดแนมจากทางการแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
 
 
สำหรับข้อมูลที่ได้จาก PRISM ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเอ็นเอสเอ ได้เสนอในรายงานสรุปสถานการณ์ประจำวันให้กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยในปี 2555 ข้อมูลที่อ้างจาก PRISM ถูกนำไปใช้งานแล้วมากกว่า 1,400 ชิ้น 
 
 
นอกจากนี้ รายงานที่เปิดเผยออกมายังระบุว่า PRISM มีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เข้าร่วมโครงการด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟต์ ยาฮู กูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแม้แต่สไกป์ และแอปเปิล เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐฯเข้าไปสืบหาข้อมูลของพวกเขาได้
 
 
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ผู้รับเหมาที่ทำงานให้กับซีไอเอ เปิดโปงความลับโครงการ PRISM ออกมา ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯถูกกดดันอย่างหนักจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เรียกร้องให้ชี้แจงถึงเรื่องราวครั้งนี้ ขณะที่บริษัทต่างๆ ที่ถูกอ้างถึง ต่างออกมาปฏิเสธทันทีว่า พวกเขาไม่ได้อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาสอดส่องข้อมูลของประชาชนที่ใช้บริการแต่อย่างใด 
 
 
เหตุการณ์ครั้งนี้ตอกย้ำ ความอับอายของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับโครงการลับเพื่อความมั่นคงของชาติ หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็เพิ่งเผชิญกับข้อกล่าวหาว่า หน่วยงานความมั่นคงได้ลักลอบเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของลูกค้าบริษัทเวอไรซอน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังวิตกกังวลกับการคุกคามบนโลกไซเบอร์ จนต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง และอาจกลายเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนในที่สุด
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog