ไม่พบผลการค้นหา
ไปทำความรู้จัก นายเต็งเส่ง ให้มากขึ้น หลังการเดินทางเยือนสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปีของผู้นำเมียนมาร์ ทำให้ชื่อของ นายเต็งเส่ง กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ไม่น้อยไปกว่านางอองซาน ซูจี
Face of the week ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2556
 
ไปทำความรู้จัก นายเต็งเส่ง ให้มากขึ้น หลังการเดินทางเยือนสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปีของผู้นำเมียนมาร์ ทำให้ชื่อของ นายเต็งเส่ง กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ไม่น้อยไปกว่านางอองซาน ซูจี 
 
นายเต็งเส่ง หรือ ที่หลายคนรู้จักในฐานะ พลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์คนปัจจุบัน วัย 68 ปี ซึ่งจากสภาสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ ยูเอสดีพี ที่ปกครองเมียนมาร์มาอย่างยาวนาน และถือได้ว่าเป็นผู้นำประเทศ ในช่วงที่เมียนมาร์กำลังเปลี่ยนประเทศสู่ประชาธิปไตย
 
นายเต็งเส่ง เป็นบุตรชายคนเล็กในครอบครัวชาวนาหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้กับแม่น้ำอิระวดี เขามุ่งมั่นที่จะเป็นทหารมาตั้งแต่ยังหนุ่ม จึงเข้าศึกษาในวิทยาลัยป้องกันประเทศรุ่นที่ 9 เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงได้ประดับยศร้อยตรี และเข้าทำงานรับใช้กองทัพนับตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา  
 
ตลอด 40 ปีที่เต็งเส่งอยู่ในกองทัพ เขาถูกมองว่าเป็นทหารฝ่ายบุ๋น ซึ่งถนัดด้านการวางแผนมากกว่าการออกรบ เมื่อทำงานได้สักระยะ นายเต็งเส่งจึงตัดสินใจศึกษาต่อในวิทยาลัยบัญชาการรบโดยเฉพาะในปี 2534 จากนั้น ก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอก พลเอก กระทั่งถึงพลจัตวา  
 
พลเอกเต็งเส่งรับใช้กองทัพจนถึงปี 2540 จึงสมัครเป็นสมาชิกยูเอสดีพี และได้รับความไว้วางใจให้เป็นเลขานุการโทในเวลาเพียง 6 ปี และได้ขึ้นเป็นเลขานุการเอกในอีก 1 ปีถัดมา หลังจากพลเอกขิ่นยุ้นต์ถูกปลด 
 
เมื่อปี 2550 นายเต็งเส่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่พลเอกโซ วิน ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 หลังการจากไปของโซวิน โดยเขาอยู่ในตำแหน่งกระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 
 
แต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2553 ซึ่งพรรคยูเอสดีพีที่เขาเป็นหัวหน้า ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมาร์ ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรก ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร
 
นับตั้งแต่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 นายเต็งเส่งมีผลงานสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะการผลักดันให้สมาชิกอีก 9 ชาติที่เหลือของอาเซียน ยินยอมให้เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนในปี 2557 ตามที่ตั้งใจไว้ได้ หลังจากเคยถูกปฏิเสธมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2548
 
ที่สำคัญ ยังผ่อนคลายท่าทีต่อนางอองซานซูจี ศัตรูหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลทหาร โดยเข้าพบกับเธอในกรุงเนปิดอว์ นับตั้งแต่ปีแรกที่เข้ารับตำแหน่ง พร้อมสั่งทบทวนกฎระเบียบ เพื่อเชื้อเชิญให้ชาวพม่าที่ลี้ภัยในต่างแดน เดินทางกลับบ้านเกิดหากไม่มีคดีติดตัว เพื่อกลับมาช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวไกล ควบคู่ไปกับการลดความเข้มงวดในการเซ็นเซอร์สื่อ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และสานสัมพันธ์กับสหรัฐฯ   
 
แต่การเป็นผู้นำก็หลีกเลี่ยงที่จะถูกวิจารณ์ไม่ได้ โดยประเด็นที่นายเต็งเส่งถูกโจมตีอย่างหนัก คือการนิ่งเฉยต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมเชื้อสายโรฮิงญา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์ และไม่รับรองให้พวกเขาเป็นชาวพม่า ทั้งที่อยู่ในแผ่นดินนี้มานานนับร้อยปี แต่นายเต็งเส่งยังยืนยันว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ไม่ได้เกิดจากการแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนาตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog