ไม่พบผลการค้นหา

Entertainment

Track by Track : Random Access Memories / Daft Punk
May 21, 2013
( Last update May 21, 2013 11:30 )
อัลบั้มล่าสุดของ Daft Punk อัดแน่นไปด้วยเพลงดิสโก้ ฟิวชันแจ๊ส และ ฟังก์กี้ ชั้นดี ราวกับดรอยด์สองตัวนี้ย้อนเวลาไปร่วมร้องเล่นอย่างมีความสุขกับคนในยุค 70

อัลบั้มล่าสุดของ Daft Punk อัดแน่นไปด้วยเพลงดิสโก้ ฟิวชันแจ๊ส และ ฟังก์กี้ ชั้นดี ราวกับดรอยด์สองตัวนี้ย้อนเวลาไปร่วมร้องเล่นอย่างมีความสุขกับคนในยุค 70 -80

 

Random Access Memories เป็นอัลบั้มที่ 4 ของศิลปินนักแต่งเพลง และ ดีเจ คู่หูจากฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นอัลบั้มที่วงการเพลงสากลเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งหลายคนน่าจะได้ฟังไปแล้วตั้งแต่พวกเขาปล่อยทั้งอัลบั้มแบบ streaming ให้ฟังฟรีๆสองสัปดาห์ก่อนวางจำหน่าย (วางจำหน่ายวันนี้ 21 พ.ค 56) และเชื่อว่าผู้คนคงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนาๆ แล้วแต่รสนิยยมและความคาดหวังของผู้ฟังแต่ละคน เพราะ Daft Punk เล่นเซอร์ไพรส์แฟนๆด้วยเพลงแบบวินเทจ แทนที่จะเป็นอัลบั้มแดนซ์กระจายล้ำยุคเหมือนอัลบั้มก่อนๆ

 

 

 


บรรยากาศการเปิดตัวอัลบั้ม RAM ที่ฟาร์มในชนบทของออสเตรเลีย 
ที่มา: AFP

 

 

Guy Manuel และ Thomas Bangalter ดีเจสองคนที่อยู่ภายใต้หน้ากากหุ่นยนต์ ชวนสมัครพรรคพวกมาลงแขกในงานที่น่าจะเป็นอัลบั้มแห่งปีนี้ หลายคน หลายรุ่น นับตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่าง  Paul Williams หรือ Giorgio Moroder และ Nile Rodgers ไปจนถึงรุ่นใหม่ๆอย่าง Julian Casablancas , Pharell Williams และ Panda Bear รวมถึงเพื่อนๆในวงการโปรดิวเซอร์แนวเต้นรำอย่าง Todd Edwards และ DJ Falcon ทำให้งานนี้เป็นงานระดับช้างที่ต้องเป็นแบรนด์ใหญ่อย่าง Columbia Records เข้ามาลงทุน บริหารและจัดจำหน่าย จึงจะสมน้ำสมเนื้อ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา ถือว่าดีสมราคา

 

Daft Punk เน้นใช้ดนตรีสดในการบันทึกเสียงอัลบั้มนี้  กลอง เบส และกีตาร์ คือพื้นฐานหลักของเพลง เพื่อสร้างให้อัลบั้มนี้เป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักร ซึ่งความแตกต่างที่ชัดเจนคือความรู้สึก และไดนามิกของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น  ก่อนที่จะฉาบมันด้วยเสียงสังเคราะห์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แทบไม่ได้ใช้ sampling เลย มีเพียงเพลงสุดท้าย Contact ที่ใช้เสียงของนักบินอวกาศในโครงการอพอลโล จากองค์การนาซ่าเท่านั้นเอง

 

Paul William หนึ่งในศิลปินรับเชิญในอัลบั้ม Random Access Momories โดย Daft Punk

ที่มา : Youtube / TheCreatorsProject

 

 

เพลงในอัลบั้มนี้เด่นทุกเพลงจริงๆ แต่ถ้าจะให้เลือกมาสักแทร็กเพื่อบอกตัวตนของอัลบั้มนี้ เพลง Get Lucky ซิงเกิลแรกที่เปิดตัวไปสักพักใหญ่แล้ว น่าจะเป็นภาพที่เห็นชัดที่สุด

 

อัลบั้มนี้เหมาะกับผู้ที่ไม่ยึดติดกับแนวทางเพลงแนวทางใดแนวทางหนึ่งเท่านั้น เพราะงานที่ Daft Punk สร้างออกมามันเป็นการผสมผสานดนตรีระดับรากเหง้าของเพลงในปัจจุบัน และ จินตนาการต่อไปยังอนาคต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวป๊อบ ชาวร็อก ชาวแดนซ์ ก็สามารถเอ็นจอยอัลบั้มนี้กับคนทุกเพศทุกวัยในครอบครัวระหว่างทริปขับรถออกไปพักผ่อนได้สบายๆ

 

 

Album Review / Track By Track

 

Give Life Back to Music

 

เป็นเพลงเปิดอัลบั้มที่เซอร์ไพรส์ผู้ฟังที่สุด เพราะมันเป็นเพลงฟิวชันแจ๊สชั้นเยี่ยม ที่ร้องและร่วมเล่นโดยหุ่นยนต์ ที่พร่ำบอกให้คืนชีวิตให้กับเสียงเพลง และปล่อยชีวิตไปตามเสียงเพลงในค่ำคืนนี้ เพลงนี้บรรยากาศหรูหราที่สุดในอัลบั้ม


Game of Love

 

เซอร์ไพรส์ต่อเนื่องด้วยเพลงจังหวะ ช้าๆ ที่มีกีตาร์ฟังก์กี้แบบหรูหรา พร้อมเสียงร้องของหุ่นยนต์ที่กำลังร้องเพลงรัก ด้วยอารมณ์ที่อินสุดๆในแบบอาร์แอนด์บี

 

 

Giorgio by Moroder

 

ชื่อเพลงก็บอกทุกอย่างแล้วว่าเพลงนี้อุทิศให้กับความเอกอุของ Giorgio Moroder ซึ่งเป็นศิลปินรุ่นเก๋าชาวอิตาเลียน หนึ่งในผู้บุกเบิกดนตรีสังเคราะห์ และอยู่เบื้องหลังศิลปินในตำนานหลายต่อหลายคน  โดยนอกจากมาแจมเพลงเต้นรำกันแล้วเรายังได้ฟังประวัติคร่าวๆของศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจของ Daft Punk จากบทบรรยายของเขาเองด้วย *เพลงนี้กลองมันมากๆ

 

Within


เพลงช้าที่มีเปียโนเป็นแกนเดินเรื่อง ฟังดูเหงาๆ ชวนนึกถึงภาพหุ่นยนต์นั่งเหม่อลอย และรำพันออกมาว่า  "There are so many things that I don't understand," และเล่าเรื่���งประมาณว่าสูญเสียความจำ ไม่รู้แม้กระทั่งตัวเองชื่ออะไรด้วยซ้ำ

 

Instant Crush feat. Julian Casablancas

 

Casablancas จาก The Strokes ร้องนำในเพลงนี้ แต่เสียงของเขาถูกบิดด้วย Vocoder เหมือนเสียงของ หุ่นยนต์ทั้งสองตัว อาจจะไม่ใช่ Julian Casablanca ที่แฟนแพลงคุ้นเคยแต่ก็เข้ากันได้ดีกับเพลงนี้ที่ฟังได้เรื่อยๆ เหมือนเพลงบัลลาดในยุค 80

 

Lose Yourself To Dance feat. Pharrell Williams

 

อีกเพลงที่น่าจะกลายเป็นเพลงฮิตในที่สุด เป็นเพลงฟังก์กี้ที่น่าขยับแข้งขา แล้วลงสู่ลานเต้นตามที่เนื้อเพลงเชื้อชวน และทำให้นึกถึงเพลงจากอัลบั้ม Off the Wall ของ Michael Jackson ช่วงต้นยุค 80 โน่นเลย แต่เพลงนี้พิเศษที่มีหุ่นยนต์จากอนาคตมาร้องคอรัสได้ลงตัวอย่างน่าประหลาด

 

Touch feat. Paul Williams

 

เพลงโปรเกรสสีฟที่มีความซับซ้อนที่สุดของอัลบั้มนี้ ซึ่งได้ Paul Williams ศิลปินรุ่นลายครามมาร่วมงานด้วย เริ่มด้วยความเป็นบัลลาดเปี่ยมอารมณ์ ก่อนจะเข้าสู่ฮุกที่เต็มไปด้วยสีสันเพลงสนุกๆแบบวินเทจที่เต็มไปด้วยเครื่องเป่า และจะสลับมาเป็นคอรัสแบบวงประสานเสียง และท่องไปในจินตนาการกับเซ็ตออเครสตร้าสุดอลังการ เพลงนี้ยาวตั้ง 8 นาที

 

Get Lucky feat. Pharrell Williams

 

ซิงเกิล ขายดีจากอัลบั้มนี้ติดชาร์ตอันดับหนึ่งในหลายประเทศ และสร้างสถิติเพลงที่มีคนฟังมากที่สุดไว้ให้กับ Spotify เป็นเพลงฟังก์กี้ที่มีเมโลดี และจังหวะจะโคน พอเหมาะพอเจาะ ลงตัวไปหมด แถมเสียงร้องของ Pharrel Williams เพิ่มสเน่ห์ให้เพลงนี้อย่างมาก เป็นเพลงที่สามารถฟังได้ไม่เบื่อรอบแล้วรอบเล่า ได้ยินท่อนที่ Daft Punk ร้องเมื่อไหร่เหมือนอยากเต้นสุดเหวี่ยงทุกที

 

Music Video เพลง Get Lucky โดยแฟนๆสถานีวิทยุ BBC Radio 1 ที่อังกฤษ

ที่มา : Youtube /BBC Radio 1

 


Beyond


การท่องอวกาศจะไม่สมบูรณ์แบบหากไม่มีการโหมโรงด้วยออเครสตร้าอลังการ ในแบบเดียวกับภาพยนตร์ Star Wars ซึ่งอินโทรเพลงนี้เหมาะมากกับการเดินทางไม่มีที่สิ้นสุด ไม่แน่ใจว่า Daft Punk ต้องการสื่อถึงความฝันเพียวๆหรือเปล่า แต่ฟังแล้วเหมือนดินแดนอันไกลโพ้นเหนือกาลเวลา เป็น จุดกำเนิด และ จุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่ง

 

Motherboard

 

เพลงบรรเลงสุดเพราะพริ้ง ด้วยเครื่องเป่าอันแสนแผ่วบางอย่างฟลุ๊ต ประกอบด้วยเพอร์คัสชัน และเครื่องสายสวยๆ ก่อนปูสู่บีตหนักๆที่รุมเร้าและความฉงนสงสัย ทิ้งไว้ให้ผู้ชมตีความหมายเรื่องราวเอาเอง

 

Fragments of Time feat. Todd Edwards

 

 

เพลงป็อบยุค 80ที่มีเมโลดีสวยงาม จังหวะน่าเต้นเบาๆ กับศิลปินรับเชิญที่เคยร่วมงานกับ Daft Punk มาแล้วในเพลง Face to Face ในอัลบั้ม Discovery อย่าง Todd Edwards

 

Doin' It Right


เพลงที่มีความทันสมัย เป็นปัจจุบันมากที่สุดของอัลบั้มนี้ เป็นซินธ์ป็อบที่สมบูรณ์แบบ กับการร่วมงานกับศิลปินอินดี้อย่าง Panda Bear หนึ่งในสมาชิกวง Animal Collective  ฟังเผินๆนึกว่าเป็นเพลงของ Animal Collective ที่มี Daft Punk มาแจม

 

Contact


เพลงปิดท้ายอัลบั้มที่มีธีมเป็นอวกาศ และได้คลิปเสียงจริงจากภารกิจ Apollo 17 ของ NASA มาใช้ ซึ่งบรรยากาศเพลงเป็นการเดินทางด้วยความเร็วสูงสู่ห้วงอวกาศ ปลุกเร้าโดยการเล่น pitch เสียงที่ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆจนเข้าสู่สภาพเวิ้งว้าง
 

Source : AFP (Images)

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog