ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คลังเผย IMF ปรับคาดการณ์ GDP ไทยเหลือติดลบ 7.1% สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นจากเดิมคาดติดลบ 7.7% ลั่นห่วงสภาพคล่องธุรกิจ เตรียมหารือแบงก์รัฐออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ​ รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงการคลัง​ ระบุภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับ​สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่ามีรายงานผลการประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2563 ตามข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับไปในทางที่ดีขึ้น เหลือ -7.1% จากเดิมที่คาด -7.7% สะท้อนให้เห็นสถานการณ์​เศรษฐกิจ​ภาพรวมของประเทศที่ดีขึ้นภายหลังผ่อนคลายปลดล็อกในวิกฤติ​โควิด-19 สืบเนื่องมาจากมาตรการของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง​

รวมทั้งการลงไปช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องในเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ประกอบทุกกลุ่ม​ ซึ่งส่งผลให้มีแนวโน้มที่ดีในสภาพคล่องทางการเงินของเอเชียฟื้นตัวเร็วกว่าในส่วนอื่นของโลก ในช่วงไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 4 ด้วย

ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาใหญ่คือสภาพคล่อง โดยเฉพาะมาตรการภายใต้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน​ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความชัดเจนว่าจะไม่มีการต่อมาตราการซอฟต์โลน และสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้​

อย่างไรก็ตาม ธปท.​ได้ประสานกับธนาคารพาณิชย์ ในเรื่องของมาตรการต่อเนื่อง​ทั้งลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินการธุรกิจตามปกติ และกลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาทำธุรกิจแต่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ และกลุ่มที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย กลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงินในระบบ​ 

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการเสริมสภาพคล่อง​ การพักชำระหนี้ หรือชะลอการชำระหนี้นั้น ทางกระทรวงการคลังจะดำเนินการดูแลอย่างต่อเนื่อง ในขอบเขตหน้าที่ของสถาบันการเงินของรัฐเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ

อาคม ยังย้ำว่าขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ในขั้นตอนของการประสานงานของธนาคารทั้งหมดและคาดว่าจะชัดเจนภายในต้นสัปดาห์​หน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: