ไม่พบผลการค้นหา
‘คนขับแท็กซี่’ เผยรายได้ไม่เพียงพอแบ่งเป็น ‘เงินออม’ หวั่นลำบากหลังเกษียณ จี้รัฐบาลทำอะไรก็ได้เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้าน ธปท. ชี้ ประชากรแค่ 25% วางแผนการออมได้สำเร็จ

พึ่งจะผ่านพ้น ‘วันออมแห่งชาติ’ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา จะเห็นภาพหลายองค์กร ต่างจัดกิจกรรมกระตุ้นการออม แต่ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้ที่จะเข้ามาโดยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจเป็นหลักคงทำได้ยาก ไม่นับอาชีพข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชน เพราะต้องเข้าระบบการออมแบบภาคบังคับ เพื่อให้มีเงินก้อน หรือรายได้ในวันที่เกษียณอายุ แต่ทางกลับกันอาชีพอิสระแทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะการจะเข้าระบบการออมไม่ได้เป็นแบบภาคบังคับ ดังนั้นอาจจะเข้าไม่ถึงการออม ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากภาระหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือการขาดวินัยในการออม

เศรษฐกิจแบบนี้จะเอารายได้จากไหนมาออม

หนึ่งในคนขับรถแท็กซี่ อายุกว่า 60 ปี เปิดเผยว่ากับ ‘วอยซ์’ ว่าปัจจุบัน ‘การออมเงิน’ ในสถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็แย่อยู่แล้วจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งให้รายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย เพราะเดิมหากแยกเฉพาะค่างวดรถที่จะต้องจ่ายทุกเดือนในวันที่ 2 ของทุกเดือน ต้องเลื่อนจ่ายเป็นวันที่ 15-16 ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงเงินออม

ขอเสียงหน่อย แท็กซี่
"กังวลมากเลย อายุนี่ก็มากแล้ว นี่ผมอายุ 60 กว่าแล้วนะครับ คิดว่าโอ้โหต่อไปเนี่ยเราจะมีเงินเก็บเงินออมไว้กินตอนแก่ไหม กังวลมากเลย"


ขอเสียงหน่อย แท็กซี่

เช่นเดียวกับแท็กซี่หนุ่มรายนี้ ระบุว่า สถานการณ์ช่วงนี้ค่อนข่างแย่ รายได้ที่หามาในแต่ละวันแทบจะไม่เหลือ จากเดิมปกติทั่วไปถ้าเศรษฐกิจดี และก็ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายแบบนี้ รายได้ก็จะอยู่ประมาณ 1,500-2,000 ต่อวัน ไม่รวมหักค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหักค่าใช้จ่ายค่าเช่า ค่าเชื้อเพลิง รวมกันแล้วประมาณ 1,000 บาท สามารถแบ่งเก็บออมและก็ผ่อนค่างวดรถได้ แต่ทุกวันนี้จะหาให้ได้ 1,000 บาทต่อวันยากมาก

"คือคนขับแท็กซี่ส่วนมากก็คือหากินวันต่อวัน ถ้าวันไหนหยุดก็คือไม่ได้ตังค์เข้าบ้าน มันก็เหมือนกับเราทำงานรายวัน แล้วประกันสังคมก็ไม่มี"
สุวรรณภูมิ-แท็กซี่-โคโรนา-ไวรัส-ผู้โดยสาร-นักท่องเที่ยว-ท่องเที่ยว


จี้รัฐดูแล ให้อาชีพอิสระมีรายได้เพิ่ม-เข้าถึงการออมมากขึ้น

แม้ว่าสิ่งที่แท็กซี่ส่วนใหญ่จะมองว่า ‘การช่วยเหลือตัวเอง’ ในสถานการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่สำคัญสุด แต่หลายคน บอกว่า การที่คนจะมีเงินออมได้นั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาดูแลปัญหาส่วนนี้ด้วย ในขณะที่บางคน มองว่า ถ้ารัฐบาลทำได้คงทำไปนานแล้ว ซึ่งสิ่งที่ต้องพูดถึง คือ ทำอย่างไรให้ ‘มีรายได้’ ก่อน อย่าพึ่งพูดเรื่อง ‘การออม’

"เขาทำได้เหรอครับ ผมว่ารัฐบาลเขาทำไม่ได้นะ ถ้าทำได้เขาทำไปนานแล้ว"


ธปท. ชี้ ประชากรแค่ 25% วางแผนการออมเพื่อการเกษียณและทำได้สำเร็จ

ผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า คนไทยในปัจจุบันที่มีเงินออม คิดเป็นสัดส่วน 77.4% ของประชากรทั้งหมด โดย 47.4% เป็นการออมระยะสั้น ส่วน 52.6% เป็นการออมระยะยาว ซึ่งมีทั้งการออมเพื่อใช้จ่ายในช่วงหลังการเกษียณ การออมเพื่อการซื้อบ้าน และการออมเพื่อการศึกษาบุตร

แม้ว่าพฤติกรรมการออมจะสูงขึ้นกว่าอดีต แต่มีเพียง 25% ที่สามารถวางแผนการออมเพื่อการเกษียณและทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ 34.3% มีการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณแต่ไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ อีก 21% ได้แต่คิด แต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ ส่วนอีก 19.7% ยังไม่ได้เตรียมการเพื่อเกษียณอายุ แปลว่าในคน 100 คน จะมีเพียงแค่ 25 คนที่จะเกษียณอายุได้ตามแผนเท่านั้น

เศรษฐกิจ-ส่งอาหาร-ฟู้ดเดลิเวอรี่-แกร็บ

กอช. ดึง แกร็บ เข้าระบบออมแบบภาคสมัครใจ

ล่าสุดกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกับ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพิ่มหน่วยรับสมัครสมาชิก กอช. และรับชำระเงินออมสะสมผ่านศูนย์บริการพาร์ตเนอร์คนขับ (Grab Driver Centre) พร้อมส่งเสริมให้กลุ่มพาร์ตเนอร์ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น คนขับรถส่งอาหาร คนขับรถแท็กซี่รับจ้าง คนขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมถึงเจ้าของร้านอาหารและธุรกิจต่างๆ กว่าหนึ่งแสนร้านค้า ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ กอช. ได้เข้าถึงการออมให้ครอบคลุมทุกมิติ และอำนวยความสะดวกในการให้บริการสมาชิกในการส่งเงินออมสะสม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภูมิภาคให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยเตรียมนำร่องในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2563 พร้อมตั้งเป้าดึงแรงงานนอกระบบ 1 แสนรายเข้าระบบการออมเพิ่มเติม  

แม้ว่า ‘การออมจะเกิดขึ้นได้’ ส่วนสำคัญสุดคือจะต้องสร้างวินัยการออมให้เกิดขึ้นก่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เงินออม’ ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากอาชีพที่ต้องมั่นคง หรือว่ารายได้ที่เพียงพอใช้ในชีวิตประจำวันก่อน เพราะหากว่าคนกลุ่มนี้ยังหารายได้ไม่เพียงพอ ก็ยากที่จะพูดถึงความมั่นคงในชีวิตหลังเกษณียณ

ขวัญ โม้ชา
ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Voice Online
0Article
0Video
0Blog