ไม่พบผลการค้นหา
อัยการตั้งคณะทำงานใหม่สั่งคดี 'บอส อยู่วิทยา' ให้พนักงานสอบสวนสอบพยานหลักฐานใหม่ ขีดเส้นส่งสำนวน 20 ส.ค.

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ อิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา, ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา กรณีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต

ประยุทธ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งที่ พิเศษ/2563 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2563 ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี สำนวน ส.1 เลขรับที่ 107/2556 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 คดีระหว่าง พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี ผู้กล่าวหา วรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 และ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 ต่อมาเมื่อคณะทำงานได้ตรวจพิจารณาการสั่งสำนวนดังกล่าวเสร็จสิ้น และได้แถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบแล้วเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563

ทั้งนี้ คณะทำงานได้ตรวจพบว่าข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้วนั้น ได้ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นพยานสำคัญสามารถทำให้ศาลลงโทษวรยุทธได้ จึงเข้าหลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ที่สามารถแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไป และคณะทำงานยังตรวจสำนวนพบว่ามีหลักฐานการตรวจพบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 (โคเคน) ในร่างกายวรยุทธ แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหา ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) โดยคณะทำงานได้ทำบันทึกรายงานและเรียนอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีวรยุทธ ต่อไป

ต่อมา อัยการสูงสุดได้พิจารณารายงานของคณะทำงานดังกล่าวแล้ว เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงานและอัยการสูงสุดได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 จึงมีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 1400/2563 ลงวันที่ 4 ส.ค. 2563 แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นคณะทำงานพิจารณามีคำสั่งคดีอาญาสำนวน ส.1 เลขรับที่ 107/2556 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ดังนี้ อิทธิพร แก้วทิพย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน, ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน, อุทัย สังขจร เป็นคณะทำงาน, ประยุทธ เพชรคุณ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ, นรา เขมอุดลวิทย์ เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีสมใจ โตศุกลวรรณ์ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน

ทั้งนี้ ให้คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้ดำเนินการเรียกสำนวนคดีดังกล่าวเพื่อพิจารณา สั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถาม และหากปรากฏว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อพิจารณาสั่งคดีต่อไป

ด้าน อิทธิพร กล่าวว่า วันนี้ (10 ส.ค.) คณะทำงานตามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 1400/2563 ดังกล่าว ได้ประชุมพิจารณาสำนวนคดี ส.1 เลขรับที่ 107/2556 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 แล้ว คณะทำงานได้มีคำสั่งทางคดี คือ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องวรยุทธ ผู้ต้องหาที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26 ) พ.ศ.2560 มาตรา 4 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการแล้วเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.63 อันเป็นผลให้คดีต้องห้ามมิให้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำของวรยุทธในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ทั้งนี้ ตามนัยประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

ภายหลังจากพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องวรยุทธดังกล่าวแล้ว ได้ปรากฏข้อเท็จจริงทางสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายว่ามีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเกี่ยวกับอัตราความเร็วในการขับรถของนายวรยุทธ แตกต่างจากอัตราความเร็วที่ใช้เป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณาความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

1.ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนของ สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้คำนวณความเร็วรถยนต์ที่วรยุทธขับ ได้ความเร็ว 177 กม./ชม. 

2.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้คำนวณความเร็วรถยนต์ของวรยุทธขับได้ความเร็ว 126 กม./ชม.

คณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการให้สัมภาษณ์และการคำนวณของ สธน และสามารถ เป็นพยานหลักฐานใหม่ตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 โดยเห็นว่า พยานหลักฐานใหม่ หมายถึง พยานหลักฐานที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนและเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญ ซึ่งอาจมีผลให้การพิจารณาความเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเร็วของรถยนต์ที่วรยุทธขับในขณะเกิดเหตุจึงเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ และสามารถทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาที่ 1 ได้ ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ควรสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีต่อไป ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

คณะทำงานจึงมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้ 

1.ให้สอบสวน "ดร.สธน" และ "สามารถ" เป็นพยานตามรูปคดี ที่คณะทำงานได้กำหนดเป็นประเด็นในหนังสือสั่งสอบสวนเพิ่มเติม 

2.ให้สอบสวนนายกสภาวิศวกรหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นพยานในประเด็นว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ขาดต่อใบอนุญาตจริงหรือไม่ การขาดต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรจะมีผลต่อการทำเอกสารรับรองการคำนวณความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธขับ มากน้อยเพียงใด การคำนวณความเร็วของรถยนต์มีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด

3. นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผลการตรวจร่างกายของวรยุทธพบสารโคเคน ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 คดีจึงมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 (โคเคน) เข้าสู่ร่างกาย โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่พนักงานยังไม่ได้ดำเนินคดีข้อหานี้กับวรยุทธ คณะทำงานจึงมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับวรยุทธ ป็นคดีใหม่ต่อไปตามกฎหมาย โดยคณะทำงานได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวโดยด่วน และให้จัดส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมภายในวันที่ 20 ส.ค. 2563 นี้