ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ดีอีเอสลั่นเอาจริง จนท.ขายข้อมูลให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชี้ 10 เดือนศาลลงโทษคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว 184 คดี ด้าน ศปอส.ตร. หรือหน่วย PCT จับคนไทยที่ร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ปอยเปตได้ รับหลอกมาแล้วนับร้อยล้าน เจ้าของเป็นคนไต้หวัน

29 มี.ค.2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวถึงกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานกำลังเข้าจับกุมแก๊งแอพพลิเคชั่นพนันออนไลน์ ชาวจีนกว่า 50 คนและมีเม็ดเงินเข้าใช้บริการมากถึง 500 ล้านบาท โดยขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกฝ่ายทั้งตำรวจไซเบอร์ ตำรวจนครบาล และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่เร่งรัดกวาดล้างปัญหาอาชญากรรม ทั้งอาชญากรรมออนไลน์และสถานที่อโคจรต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ ที่เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศในห้วงของการประชุมเอเปค 2022

ในส่วนของกระทรวงดีอีเอส ได้ประชุมมีการประชุมติดตามสถานการณ์ และหาแนวทางเร่งรัดและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่องร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาโดยเฉพาะการหลอกลวงทางการเงิน ใน 5 ด้าน ได้แก่ 

1. แก๊ง Call Center 

2. แชร์ลูกโซ่-ระดมทุนออนไลน์  

3. การพนันออนไลน์ 

4. บัญชีม้า  

5. การหลอกหลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์  

ปัจจุบันพบว่า คนร้ายมีการปรับรูปแบบและวิธีการหลอกหลวงประชาชนจนมีเหยื่อหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก และมีการจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง จากสถิติผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 24 ต.ค.2565 ศาลมีคำสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้ว 184 คำสั่ง และมี URLs ที่ผิดกฎหมายจำนวน 4,736 URLs 

นอกจากนี้ยังพบเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นตัวการในการขายข้อมูลในระบบราชการของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้มีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPAโดยตรง ฐานนำข้อมูลส่วนบุคคลผู้อื่นไปขาย มีโทษอาญาจำคุกสูงสุด 1 ปี ต่อกรรม หากขายข้อมูล 10 คนก็จะมีโทษถึง 10 ปี ถ้า 100 คนโทษก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ปี นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษอาญา จำคุก 2 ปี และหากขายข้อมูลจนทำให้เสียหายเป็นวงกว้างทางสังคม โทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี จึงขอเตือนเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน บุคคลที่ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นๆได้ ให้ระวัง การกระทำที่ผิดกฎหมาย

รมว.ดีอีเอสระบุว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับงานด้านนี้ ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสัปดาห์หน้าได้นัดประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้าเพื่อเร่งรัดการทำงาน ให้เป็นรูปธรรม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วย


รวบคอลเซ็นเตอร์ปลอมเป็นผู้กำกับเชียงราย หลอกผู้เสียหายสูญเงินกว่า 150 ล้าน 

สืบเนื่องจากมีรายงานข่าวว่าแก็งคอลเซ็นเตอร์มักหลอกลวงเป็นพนักงานขนส่งบริษัทเอกชน fedex แจ้งเรื่องพัสดุผิดกฎหมาย และหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย โดยมีที่ตั้งในการก่ออาชญากรรมอยู่ที่ ตึกประตูดำ 8 ชั้น ซ.วัดตาด เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา หรือที่เรียกกันว่า 'ตึกประตูดำ' ต่อมา ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.). หรือ PCT ชุดที่ 5 ได้สืบสวนเรื่องนี้เป็นเวลากว่า 6 เดือน และพบว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 มีผู้เสียหายได้ถูกแก็งคอลเซ็นเตอร์นี้หลอกลวง มูลค่าความเสียหาย 41,517,869 บาท และเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2565 มีผู้เสียหายซึ่งเป็นแพทย์ได้ถูกแก็งคอลเซ็นเตอร์นี้หลอกลวงอีก มูลค่าความเสียหาย 101,871,381 บาท นักวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของ ศปอส.ตร. ได้วิเคราะห์แผนประทุษกรรมประกอบกับพยานหลักฐานที่สืบสวนได้จากการสืบสวน ยืนยันได้ว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ 'ตึกประตูดำ' จึงได้เร่งรัดให้ดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดทั้งหมดทั้งต่างประเทศ และในประเทศอย่างต่อเนื่อง

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 PCT และตำรวจ PCT 5 จึงร่วมกันจับกุมตัวนายชลวิชา ปานสมุทร หรือเบียร์ อายุ 32 ปี ชาวจ.สมุทรสาคร ซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานสาย 3 ที่ปลอมเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามหมายจับศาลอาญาที่ 2298/2565 ลงวันที่ 28 ต.ค.2565 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จฯ และร่วมกันฟอกเงินฯ พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินประกอบด้วยสมุดบัญชีธนาคาร 2 เล่ม, แหวน กำไรและสร้อยโลหะคล้ายทองคำ น้ำหนัก รวม 8 บาท 3 สลึง, นาฬิกาข้อมือ 2 เรือน,เงินสด จำนวน 2,619 บาท, ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์ 1 ดอลลาร์, ธนบัตรสกุลเงินเรียล 16,500 เรียลกัมพูชา, โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง รวมของกลางที่ตรวจยึดได้ 16 รายการ โดยจับกุมได้บริเวณลานจอดรถ ร้านเค้กบ้านสวน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวานนี้ ( 28 ต.ค.2565)

ทั้งนี้ ศปอส.ตร.ชุดที่ 5 ได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 58 หมายจับ ต่อมาวันที่ 12 ก.ย.2565 พล.ต.อ.วรรณวีระ สม ผู้ช่วย ผบ.ตร./ผบช.กองบัญชาการรักษาความมั่นคงภายใน ตำรวจกัมพูชา และคณะ ได้เดินทางมาพบ ผบ.ตร. โดยได้วางแนวทางหารือเพื่อปฏิบัติการทลายแก็งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว และมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ที่หลอกลวงให้โอนเงินในขั้นตอนสุดท้าย หรือเรียกว่าสายสามทั้ง 2 คดีนี้ได้เงินไปกว่า 150 ล้านบาท คือ นายชลวิชา ปานสมุทร หรือเบียร์ ผู้ต้องหาซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานสาย 3 ที่ปลอมเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ผกก.สภ.เมืองเชียงราย จนนำมาสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาดังกล่าว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCTเดินทางไปยังเมืองปอยเปต ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศกัมพูชา เข้าปฏิบัติการทลายแก็งคอลเซ็นเตอร์ประตูดำ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงได้พบว่าหัวหน้าชาวไต้หวันได้สร้าง 'ทางลับ' นำพาพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนไทยหลบหนีออกไปจากตึกระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้นตึก โดยนายชลวิชาก็สามารถหลบหนีออกจากตึกไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT 5 ได้ไล่ติดตามจนสืบถามว่า เดินทางกลับประเทศไทยและถูกติดตามจับกุมตัวในที่สุด

นายชลวิชา ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และให้การว่า ตนได้ร่วมกันกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายจริง โดยเริ่มต้นข้ามไปประเทศกัมพูชาทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 ซึ่งช่วงเดือน ก.พ.2565 ถูกย้ายตึกทำงานประตูดำ และได้เริ่มหลอกลวงเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์สาย 2 อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย ยศร้อยตำรวจโท แต่เมื่อทำมาได้ระยะหนึ่ง หัวหน้าชาวไต้หวันได้เห็นถึงความสามารถในการหลอกลวงจึงได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าหน้าที่สาย 3 อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ยศพันตำรวจเอก โดยหลอกลวงผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมคดีของนายจักรพงศ์ รือเสาะ ทั้งนี้พนักงานสาย 1 จะทำหน้าที่อ้างเป็นพนักงานหรือบริษัทขนส่งเกี่ยวกับการส่งสิ่งของผิดกฎหมาย ส่วนสาย 2 อ้างเป็นร้อยเวรเจ้าของคดีและเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายส่งต่อให้สาย 3 ที่อ้างตัวเป็นผู้กำกับหรือรองผู้กำกับ เพื่อปิดยอด ส่วนวิธีการหลอกปลอมเป็นตำรวจจะมีทีมงานนำสคลิปสนทนาการเจราจาพูดคุยมาให้ฝึกซ้อม หากทำยอดได้มากถึง 1 ล้านบาท เจ้านายจะมีการจัดงานเลี้ยงโดยเฉพาะหมูกะทะ เนื่องจากเป็นอาหารที่พิเศษสุด เพราะทีมงานไม่สามารถออกไปด้านนอกได้ 

นายชลวิชา กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ทำงานเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ ตนสามารถหลอกลวงผู้เสียหายได้ประมาณ 7-8 ล้านบาทต่อเดือน และเคสใหญ่ๆ ที่ตนหลอกได้มี 3 ครั้ง คือ 1.ช่วงประมาณ เดือน เม.ย.2565 หลอกลวง นางอำภา ข้าราชการครูเกษียณ ได้ประมาณ 11 ล้านบาท 2.ช่วงประมาณ เดือน ก.ค.2565 หลอกลวง นายชาญชัย นักลงทุนหุ้น ได้ประมาณ 41 ล้านบาท 3.ช่วงประมาณ ต้นเดือน ต.ค.2565 หลอกลวง นางรัชนี เป็นหมอ อยู่เมืองชุมพร โดยมีเพื่อนชื่อ เต๋า ช่วยพูดคุยหลอกลวงด้วย ได้ประมาณ 101 ล้านบาท 

นายชลวิชา รับสารภาพอีกว่า แก็งคอลเซ็นเตอร์แก็งนี้มีพนักงานเป็นคนไทยประมาณ 50-60 คน ในส่วนของเงินเดือนที่ได้การทำงานตั้งแต่เริ่มงาน ช่วง 1-3 เดือนแรก จะได้เงินเดือนประมาณ 20,000 บาท แต่ภายหลังได้ปรับเงินเดือนเพิ่มเป็น 30,000 บาท และได้ค่าคอมมิชชั่นจากการหลอกลวง 3% ค่าคอมมิชชั่นล่าสุดที่สามารถหลอกลวงได้ 101 ล้านทำให้ได้เงินสดมากว่า 2.5 ล้านบาท โดยรวมทั้งหมดที่ทำงานมาได้เงินมาทั้งหมดประมาณ 4,000,000 บาท โดยตอนหลบหนีกลับมาที่ประเทศไทยได้พกเงินสดติดตัวไว้ 600,000 บาท เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยตนได้นำเงินมาใช้สร้างบ้านรวมประมาณ 1 ล้านบาท แบ่งให้ญาติใช้จ่าย รวม 1 ล้านบาท นำไปซื้อทองรูปพรรณมาเก็บไว้ประมาณ 5 แสนบาท ที่เหลือได้นำมาใช้จ่ายส่วนตัวและส่วนหนึ่งได้นำไปใช้เล่นพนันออนไลน์ ฝากเตือนประชาชนหากมีสายแปลกก็ควรจะตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์จากอินเตอร์เน็ตก่อน หรือตัดสายทิ้งและบล็อกเบอร์โทรศัพท์ไปเลย ส่วนคนที่อยากจะมาทำงานแบบนี้ถึงแม้ได้เงินเยอะแต่ไม่ได้ใช้ และถูกจับกุมด้วย

เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหารายนี้มาขยายผล ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่ออายัดเงินที่ผู้ต้องหาได้จากการหลอกลวงมาทั้งหมด และได้มีการติดตามให้ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงเข้ายืนยันเสียง ซึ่งทั้งสองได้ยืนยันว่าเสียงของนายชลวิชา เป็นเสียงที่ทั้งสองถูกหลอกลวงจริงๆ 

พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า เงินที่ไปต่างประเทศอาจติดตามยาก แต่เคสนี้ทราบว่าได้เงินเปอร์เซ็นจากการหลอกลวงรวม 4 ล้านบาท และเงินรางวัลที่ได้จากการหลอกคนไทยเขาจะไม่ได้ใช้เลย และจะติดตามคืนผู้เสียหายต่อไป นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมกระทำผิดที่ทำหน้าที่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ร่วมกันหลอกลวงอีก 57 คน จะขยายผลจับกุมมาดำเนินคดีต่อไป

หากประชาชนมีเบาะแสสามารถติดต่อไปยัง สายด่วน 1441 ตำรวจไซเบอร์ หรือ ศูนย์ ศปอส.ตร. 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ thaipoliceonline.com นอกจากนี้ยังได้จัดทำรูปแบบแผนประทุษกรรมของคนร้าย เพื่อให้ประชาชนรับรู้ โดยสามารถเข้าไปติดตามได้ที่ pctpr.police.go.th