รายงานพิเศษ '๓ ปี ๑๙ พฤษภา ๕๓' ทุ่งสังหารราชประสงค์ ตอนที่ 1
ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียทั้งคนเสื้อแดง ประชาชนและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 หลังจากนั้นความสูญเสียก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุมและประชาชน หนึ่งในนั้นคือการลอบสังหาร "พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล" หรือ เสธ.แดง ซึ่งเป็นการได้ยืนยันว่า รอบพื้นที่การชุมนุมมีพลซุ่มยิงบนตึกสูงอยู่จริง
ความสูญเสียจากเหตุสลายการชุมนุม บริเวณสี่แยกคอกวัว และถนนดินสอ ผ่านไปเพียง 1 เดือนเศษ สัญญาณความรุนแรงก็เริ่มเด่นชัดมากขึ้น เมื่อแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. ไม่ยอมทำตามข้อเสนอยุติการชุมนุมของรัฐบาล เนื่องจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อดีเอสไอ ในคดีสลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ตามที่ นปช.เรียกร้อง จึงทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยกเลิกข้อเสนอของนปช. ที่ต้องการให้ยุบสภาในเดือนกันยายน 2553 ด้วยเช่นกัน
ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. เพิ่มมาตรการจำกัดพื้นที่การชุมนุม เพื่อกดดันให้ นปช.ยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด เช่น การประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวม 17 จังหวัด เพื่อสกัดผู้ร่วมชุมนุม ตั้งจุดตรวจจุดสกัดทุกเส้นทางที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่เวทีราชประสงค์ ทั้งถนนเพชรบุรี ถนนราชปรารภ ถนนวิทยุ ถนนพญาไท และถนนพระรามที่ 4 รวมทั้งปิดการจราจรทุกช่องทาง ทั้งรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า BTS เรือโดยสารคลองแสนแสบ และรถไฟฟ้าใต้ดิน
ส่วนประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ปิดกั้น หากต้องการเดินทางเข้า-ออก จะต้องยื่นเอกสารหลักฐานแสดงตนทุกครั้ง รวมทั้ง ศอฉ. ยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการบริเวณนั้น ให้หยุดทำการชั่วคราว ประกาศตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่การชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2553 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถควบคุมการชุมนุมได้สะดวกมากขึ้นและกดดันให้ นปช.ยุติการชุมนุม
ผู้ชุมนุม นปช.หามตัว เสธ.แดง ส่งโรงพยาบาลหัวเฉียวหลังถูกยิง โดยแพทย์ตรวจอาการในห้องไอซียูนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลวชิรพยาบาลและเสียชีวิตในวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 และจนถึงขณะนี้การสืบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุยังไม่คืบหน้า
การถูกยิงของ เสธ.แดง ทำให้ผู้ชุมนุม นปช.โกรธแค้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก เสธ.แดง เป็นที่เคารพรักของผู้ชุมนุม โดยเขาเดินตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยในพื้นที่การชุมนุมเป็นประจำ พร้อมแนะนำแนวทางและวิธีการป้องกันตัวเองจากเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุลอบสังหารในครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งยืนยันว่า รอบพื้นที่การชุมนุมมีพลซุ่มยิงแฝงตัวอยู่ตามตึกสูงจริงและพร้อมปฎิบัติการทุกเมื่อ
ผู้เสียชีวิตอีกราย คือนายชาติชาย ชาเหลา ชาวสุรินทร์ วัย 25ปี ถูกยิงเสียชีวิต ขณะบันทึกภาพเหตุชุลมุนบริเวณถนนพระรามที่ 4 ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ระบุว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 เมื่อกลางดึกของวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 23.37น. ทำให้สมองฉีกขาด กะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
นี่จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสูญเสียอีกครั้ง หลังเหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เพียงแต่ 1 สัปดาห์ก่อนสลายการชุมนุมสำเร็จ ผู้ชุมนุม ถูกกดดันจากทุกด้านทุกรูปแบบ ด้วยกองกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือ