ไม่พบผลการค้นหา
ชาวเยอรมนีจะร่วมกันรำลึกเหตุการณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

วันนี้ (10พ.ค.56)ชาวเยอรมนีจะร่วมกันรำลึกเหตุการณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์ดังกล่าว คือ การเผาหนังสือนับ 2 หมื่นเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือที่พรรคนาซีเห็นว่าขัดต่อแนวคิดของพวกตน


ในวันนี้ เมื่อ 80 ปีที่แล้ว และเป็นเพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการนาซีเยอรมนีขึ้นมามีอำนาจ กลุ่มนักศึกษาฝักใฝ่นาซีได้นำหนังสือกว่า 2 หมื่นเล่ม ออกมากองรวมกัน ณ จัตุรัสบาเบล ซึ่งอยู่ติดกับโรงละครโอเปร่า และห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮุมโบลด์ท ในกรุงเบอร์ลิน เพื่อเผาทำลาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ของการโค่นล้มทางปัญญาครั้งสำคัญ และเป็นลางบอกเหตุถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นที่จะตามมา นั่นก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว


โดยในวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 2476 กลุ่มนักศึกษาฝักใฝ่นาซีได้เผาทำลายงานของซิกมันด์ ฟรอยด์, คาร์ล มาร์กซ์, เฮนริช มานน์ และนักคิดนักเขียนคนสำคัญอื่นๆ โดยนักศึกษาเหล่านี้มองว่า งานเหล่านี้เป็นผลงานอันตราย และ "ขัดกับจิตวิญญาณของความเป็นเยอรมัน" ซึ่งแนวคิดเดียวกันนี้ได้นำไปสู่การประหารชีวิตนักเขียนเชื้อสายยิว, นักเขียนสายมาร์กซิสต์ และนักเขียนผู้รักสันติภาพจำนวนมาก เป้าหมายของนักศึกษากลุ่มนี้ - อย่างที่พวกเขาอ้างก็คือ เพื่อทำลายจิตวิญญาณของชาวยิว และสนับสนุนสำนึกของความเป็นชนชาติในหมู่ชาวเยอรมัน


ผลงานของนักเขียนกว่า 400 คนที่ถูกเผาทำลายนั้น รวมไปถึงวรรณกรรมชั้นดี ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และผลงานทางปัญญาของอดีตสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการบอยคอตสินค้าจากร้านค้าของชาวยิวในวันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน


ก่อนหน้านี้ นักเขียนหลายคนที่มีชื่ออยู่ในลิสต์นักเขียนต้องห้ามได้หลบหนีออกจากเยอรมนีแล้ว แต่สำหรับคนที่เหลืออยู่อย่าง เอริช เคสท์เนอร์ บิดาแห่งวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกเรื่อง "เอมีล ยอดนักสืบ" นักเขียนผู้ต่อต้านระบอบนาซี ได้ตัดสินใจที่จะอยู่ในประเทศต่อไป และอยู่อย่างต่อต้านระบอบทางอ้อม ในขณะที่นักเขียนบางคนอย่างสเตฟาน สแวกค์ นักเขียนออสเตรียเชื้อสายยิวได้ใช้วิธีสุดโต่งอย่างการฆ่าตัวตาย ระหว่างลี้ภัยอยู่ในประเทศบราซิล เมื่อเดือนมกราคมในอีก 9 ปีถัดมา


ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก และอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีก่อนปี 2476 ได้สร้างชื่อเสียงมากมายให้กับเยอรมนีจากรางวัลโนเบลหลายสาขา แต่หลังจากปีดังกล่าวเป็นต้นมา วงการวิชาการของเยอรมนีก็ไม่เคยกลับขึ้นไปอยู่ในจุดเดียวกันกับเมื่อช่วงก่อนหน้าปี 2476 อีกเลย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog