ไม่พบผลการค้นหา
ในงานเสวนาศาลโลกกับปัญหาไทย-กัมพูชา นักวิชาการทั้งหลายต่างลงความเห็นตรงกันว่า ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด มาจากการบ่มเพาะเรื่องชาตินิยมภายในประเทศ

ในงานเสวนาศาลโลกกับปัญหาไทย-กัมพูชา นักวิชาการทั้งหลายต่างลงความเห็นตรงกันว่า ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด มาจากการบ่มเพาะเรื่องชาตินิยมภายในประเทศ และหากว่าทั้งสองฝ่ายสามารถลดความเป็นชาตินิยมลงมาได้ ก็อาจจะทำให้ความขัดแย้งทุเลาลง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะพัฒนาไปในทางที่ยั่งยืน ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลโลก จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม 

 
หลังจากที่การให้การทางวาจาต่อศาลโลกของทีมทนายความของไทยและกัมพูชา ต่อกรณีพิพาทไทย-กัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารสิ้นสุดลงเมื่อสัปดาห์ก่อน กระแสความสงสัยใคร่รู้ของคนในสังคมไทย เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก็ยังคงไม่จืดจางลงไป  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จึงได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ 2 เล่ม ที่มีชื่อว่า "สยามประเทศไทย : ได้ดินแดน-เสียดินแดนกับลาวและกัมพูชา" และ "เขตแดนสยามประเทศไทย กับลาวและกัมพูชา" ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มนี้ อาจเรียกได้ว่าเปลี่ยนมุมมองและความคิดเรื่องการเสียดินแดนของประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง เพราะใจความหลักของหนังสือทั้งสองเล่ม คือการนำเสนอมุมมองที่ว่า ประเทศไทยไม่เคยเสียดินแดน แต่ด้วยระบบการศึกษาของไทย ที่บ่มเพาะมาโดยตลอดว่า ไทยเคยเสียดินแดน จึงทำให้ประชาชนจำนวนมาก หลงอยู่ในมายาคติ เรื่องการเสียดินแดนมาโดยตลอด ดังนั้น ดร.มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ จึงได้นำเสนอว่า คนไทยควรอยู่รอดจากกรอบของชาตินิยม ด้วยการเปิดมุมมองใหม่ๆ ได้แล้ว
 
 
ขณะที่ ผศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่หลายคนไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ว่าหลังจากที่ศาลโลกมีคำตัดสินในอีก 6 เดือนข้างหน้า ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาจะเป็นไปในลักษณะใด และทั้งสองประเทศ จะเตรียมรับมือกับคำตัดสินอย่างไร รวมถึงทางออกไหนที่จะดีที่สุดสำหรับสองฝ่าย ซึ่งอาจารย์สุรชาติมองว่า วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ทั้งไทยและกัมพูชาควรลดกระแสชาตินิยมในประเทศลง และหันหน้ามาพัฒนาพื้นที่ขัดแย้งร่วมกัน เพื่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนในอนาคต
 
 
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ อีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า ไทยจะรวมกลุ่มกับประเทศสมาชิกอื่นๆในอาเซียน เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งหากว่าปัญหาความขัดแย้งกับชาติเพื่อนบ้านยังไม่หมดไป แล้วในอนาคต ไทยและชาติสมาชิกอื่นๆจะรับมือกันอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ยังไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก เพราะทุกภาคส่วนต่างก็พุ่งเป้าไปที่แนวทางการตัดสินคดีของศาลโลกมากกว่า ทั้งๆที่เรื่องนี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog