ไม่พบผลการค้นหา
'ประวิตร' เผยที่ประชุม กก.สิ่งแวดล้อมฯ กำชับ จนท.-ประชาชนร่วมมือตามกฎหมายแก้ปัญหาฝุ่นพิษ พร้อมให้กรมควบคุมมลพิษตั้งวอร์รูม ย้ำอำนาจแก้ฝุ่นทุกจังหวัดอยู่ที่ผู้ว่าฯ หากวิกฤตนายกฯ จะลงมาแก้ปัญหา ด้าน มท.1 แนะหันมาใช้รถสาธารณะแทนรถส่วนตัว

ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณายกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤตว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการเข้มงวดในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เราได้ดำเนินการไปให้มากขึ้น รวมทั้งในเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่เพียงพอ เช่น อุปกรณ์ตรวจสอบควันดำก็จะมีการให้หน่วยงานไปดำเนินการจัดหามาให้ครบ 

รวมทั้งมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีประสบการณ์ทั้งหลายความจริงแล้วทุกหน่วยงานก็ได้ทำงานร่วมกับประชาชนในการพัฒนาเรื่องควันดำและฝุ่น PM 2.5 ให้ลดน้อยลง โดยเข้มงวดในเรื่องตามกฎหมายที่มีอยู่ และขอให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้ร่วมมือและทำงานร่วมกัน ตลอดจนสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยมีการตั้งวอร์รูมที่กรมควบคุมมลพิษเพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รู้ว่าแต่ละวันค่า PM 2.5 อยู่ที่เท่าไร เป็นรายชั่วโมง

เมื่อถามว่า 12 มาตรการที่นำมาบังคับใช้กระจุกอยู่แค่ในเมืองคือกทม.ยังไม่มีการควบคุมการเผาโดยเฉพาะเผาอ้อยในแต่ละจังหวัด พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เขาให้มีผู้ว่าฯ ราชการเป็นซิงเกิลคอมมานด์ในการสั่งการในแต่ละจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฝุ่นPM2.5 โดยได้เน้นย้ำการดำเนินการให้ปฏิบัติตามแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในเรื่องแก้ไขมลพิษและฝุ่นละอองให้มากขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวดเป็นมติในที่ประชุม ตลอดจนสร้างการรับรู้ให้ประชาชน ทั้งนี้จะให้กระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องฝุ่นละอองต่อไป 

เมื่อถามว่าในการแก้ปัญหา PM2.5 อำนาจสั่งการสูงสุดอยู่ที่ใคร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตามกฎหมายในต่างจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในกทม. เป็นผู้ว่าฯ กทม. และกรมต่างๆของรัฐบาลให้การสนับสนุน ส่วนหากถึงขั้นวิกฤตจริงๆใครจะมีอำนาจสั่งการเพื่อให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ถ้าเกิดวิกฤตนายกรัฐมนตรีจะลงมาเป็นประธานบัญชาการด้วยตัวเอง

อนุพงษ์ 23165347000000.jpg

มท.1 วอนเลี่ยงใช้รถส่วนตัวหันมาใช้รถสาธารณะ ตรวจรถควันดำ

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า ภายหลังครม.มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของกระทรวงทรัพยากรฯ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหาโดยลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ซึ่งประชาชนยังมีข้อวิจารณ์ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ตนเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ออกมายืนยันว่าฝุ่นPM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากต่ำกว่าค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม. สุขภาพยังพอรับได้ แต่หากเกินค่ามาตรฐานมีผลกระทบต่อสุขภาพแน่นอน จึงต้องสร้างความตระหนักถึงเรื่องนี้ ดังนั้นหากห่นวยงานออกมาตรการห้ามหรือขอความร่วมมือ เช่น การจราจร การตรวจควันดำ ก็ต้องให้ความร่วมมือ การเผาในที่โล่งก็ต้องควบคุมการไม่ให้มีการเผา ทั้งชาวนา และชาวไร่ หากพบมีการเผาจะบังคับใช้กฎหมายตามหน่วยงานที่มี

เมื่อถามว่าหากเกิดปัญหาฝุ่นละอองขั้นวิกฤตจะมีการออกมาตรการงดใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ก่อนที่ทุกคนจะถูกบังคับ ทุกคนต้องมาช่วยกันก่อน เช่น เลี่ยงการใช้รถส่วนตัวในกรณีที่ไม่จำเป็น หันมาใช้รถสาธารณะ หรือใช้รถร่วมกัน อีกอย่างรถส่วนตัวต้องหมั่นตรวจสภาพรถ อย่าใช้รถที่มีควันดำหรือรถที่ใช้น้ำมันดีเซล

เมื่อถามต่อว่าหากมีมาตรการบังคับใช้รถยนต์ส่วนตัว จะมีแนวทางในการลดค่าโดยสารรถสาธารณะเช่น รถไฟฟ้าหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้น่าสนใจ แต่ขอให้เป็นเชิงนโยบายก่อนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้รถสาธารณะ โดยจะนำเรียนให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในส่วนนี้ เพราะต้องใช้ภาษีประชาชนในการรองรับเรื่องนี้ สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอาจกระทบต่อชีวิตของประชาชนบ้าง ก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ทุกคนอยากให้ฝุ่นลดแต่ถ้ามีผลกระทบต่อตัวเองก็ไม่ทำ แบบนี้ไม่ได้ ซึ่งก่อนจะบังคับใช้กฎหมายอยากให้ทุกคนให้ความร่วมมือก่อน