นักดาราศาสตร์ในสหรัฐค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา 2 ดวง มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกมากกว่าดวงใดที่เคยเจอ เชื่อมีเนื้อสารเป็นหิน และมีน้ำ เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
อีริก เอโกล แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ สำรวจระบบสุริยะที่เรียกว่า เคปเลอร์ 62 พบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุดสองดวง คือ Kepler-62e กับ Kepler-62f
ทั้งสองดวงอยู่ในกลุ่มดาวพิณ โคจรรอบดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์ของเรา มีขนาดใหญ่กว่าโลกเล็กน้อย แต่มีอุณหภูมิต่ำกว่า มีเนื้อสารส่วนใหญ่เป็นหินหรือน้ำแข็ง
รายงานซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science บอกว่า กล้องเคปเลอร์ได้ตรวจพบดาวเคราะห์ของระบบสุริยะ เคปเลอร์ 62 รวมทั้งหมด 5 ดวง คือ 62b, 62c, 62d, 62e และ 62f โดยใช้เทคนิคการตรวจจับแสงจากดาวฤกษ์ที่หรี่ลงเมื่อมีดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้า
@ ภาพเปรียบเทียบระบบสุริยะของเรา กับระบบสุริยะเคปเลอร์ 62 แสดงดาวเคราะห์ที่อยู่ใน
อาณาบริเวณที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตรอบดาวฤกษ์ศูนย์กลางของแต่ละระบบ
กล้องซึ่งตั้งชื่อตามโยฮัน เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 17 ตัวนี้ ได้ปล่อยสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อปี 2552 เพื่อสำรวจกาแล็กซีทางช้างเผือก ค้นหาดาวเคราะห์ที่อาจมีสิ่งมีชีวิต
ดาวเคราะห์เคปเลอร์-62เอฟ มีขนาดใหญ่กว่าโลก 1.4 เท่า ได้รับความร้อนจากดาวฤกษ์ราวครึ่งหนึ่งของรังสีที่โลกเราได้รับจากดวงอาทิตย์ ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ 267.3 วันของโลก
เคปเลอร์-62เอฟ เป็นดวงหนึ่งที่จัดอยู่ในอาณาบริเวณที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย เพราะอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในระยะพอเหมาะ จึงอาจมีน้ำในสภาพของเหลว
เคปเลอร์-62อี มีขนาด 1.61 เท่าของโลก มีคาบการโคจร 122.4 วัน และได้รับความร้อนน้อยกว่าโลกประมาณ 20%
ทั้งสองนับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยพบในอาณาบริเวณที่เอื้อต่อการดำรงชีพรอบดาวฤกษ์ ที่ผ่านมา ดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่พบส่วนใหญ่มักโคจรในระยะใกล้กับดาวฤกษ์มาก ทำให้ร้อนเกินกว่าสิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัยได้
เอโกลบอกว่า บอกว่า เรารู้ขนาดของดาวเคราะห์ทั้งสอง แต่ไม่รู้มวลและความหนาแน่น อย่างไรก็ดี เท่าที่เคยเจอนั้น ดาวเคราะห์ขนาดนี้มักมีเนื้อเป็นหินเช่นเดียวกับโลก และน่าจะมีบรรยากาศ แต่ไม่ได้ห่อหุ้มด้วยม่านก๊าซหนาจัดอย่างบนดาวเนปจูน
"หวังว่า อีกไม่นาน เราจะเจอฝาแฝดของโลก" เขาบอก
Source : Daily Mail