ในช่วงที่คดีพระวิหารกำลังเป็นที่จับตามองไปทั่วโลก ไปทำความเข้าใจอีกมุมมองหนึ่งของเรื่องนี้ที่อาจจะไม่ค่อยมีใครนึกถึง นั่นก็คือความสำคัญของปราสาทพระวิหาร ในฐานะศูนย์กลางชาติความเป็นนิยมกัมพูชา ที่ทำให้กัมพูชาต้องต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองมีอธิปไตยเหนือพื้นที่นี้
คดีปราสาทพระวิหาร ถือเป็นหนึ่งในคดีที่โด่งดังที่สุดที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกเคยตัดสิน และเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่เก่าแก่และบาดลึกที่สุดปัญหาหนึ่งระหว่างชาติอาเซียน โดยถึงแม้คดีที่ว่าใครเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหาร จะถูกตัดสินชี้ขาดไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2505 ที่ศาลโลกตัดสินให้กัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาท แต่ก็ยังคงมีความไม่ลงรอยกันเรื่อยมาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณรอบๆปราสาท จนกลายมาเป็นคดีความที่กัมพูชานำขึ้นของให้ศาลโลกตีความอีกครั้ง
มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าทำไมพื้นที่ตรงนี้ถึงมีปัญหา ทั้งๆที่ไทยและกัมพูชามีพรมแดนร่วมที่ยังไม่ปักปันอย่างชัดเจนหลายแห่ง และทำไมกัมพูชาจึงยังไม่ยอมเลิกราเรื่องอธิปไตยเหนือพื้นที่รอบๆ พระวิหาร ทั้งๆ ที่การได้เป็นเจ้าของปราสาทก็น่าจะเพียงพอแล้ว
แน่นอนว่ามีการพูดถึงความสำคัญของปราสาทพระวิหารในฐานะจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร ในฐานะเป็นพื้นที่ชะง่อนผาที่ยื่นล้ำเข้าไปในเขตกัมพูชา ซึ่งทำให้ไทยสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวภายในกัมพูชาในบริเวณโดยรอบได้ทั้งหมด นอกจากนี้ปราสาทพระวิหารยังเป็นแหล่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งจะสามารถทำรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่และรัฐบาลกัมพูชาได้มหาศาล
แต่อันที่จริงแล้ว เหตุผลสำคัญที่สุดที่กัมพูชายังคงหยิบยกเรื่องนี้มาเล่นในการเมืองระหว่างประเทศไม่จบสิ้น ก็คือความสำคัญของปราสาทหินในฐานะศูนย์กลางชาตินิยมและความเป็นเอกภาพของกัมพูชา ศาสตราจารย์พิเศษชาญวิทย์ เกศตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายว่าปราสาทหินของกัมพูชา มีสถานะไม่ต่างจากสถานบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ของไทย ในฐานะเป็นสิ่งที่ชาวกัมพูชารักและหวงแหน เป็นตัวแทนของความรุ่งเรืองในอดีต สังเกตได้จากการที่ปราสาทหินปรากฏอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นธนบัตร หรือแม้แต่ธงชาติกัมพูชา
ด้วยเหตุนี้ ปราสาทหิน ตั้งแต่นครวัดไปจนถึงปราสาทพระวิหาร จึงมักถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างคะแนนเสียงให้กับพรรครัฐบาล เห็นได้จากการใช้คำพูดที่ว่า "นครวัดเป็นของไทย" ปลุกกระแสจลาจลต่อต้านคนไทยในพนมเปญเมื่อปี 2546 ทำให้รัฐบาลนายฮุน เซน ได้คะแนนนิยมล้นหลาม และในปีเดียวกัน พรรคของนายฮุน เซน ก็ใช้เรื่องการยืนยันอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารหาเสียงจนชนะใจกลุ่มประชาชนชาตินิยมในประเทศ และชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การที่กัมพูชาหยิบยกรื้อฟื้นเรื่องพระวิหารขึ้นมาอีกครั้ง จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างความขัดแย้งกับประเทศไทย หรือเพื่อพิทักษ์อธิปไตยของชาติ แต่มีเหตุผลในเบื้องลึกเพื่อการเพิ่มคะแนนนิยมให้แก่พรรครัฐบาล โดยเฉพาะในเวลานี้ ที่การเมืองภายในของกัมพูชาเต็มไปด้วยปัญหาและการทุจริตคอรัปชั่น จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างผลงานจากเรื่องภายนอก แม้ว่าผลงานที่ว่านั้นอาจจ้องกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม