นักบรรพชีพวิทยาไขปริศนา ทำไมลูกไดโนเสาร์ภายในไข่จึงโตเร็ว และทำไมพวกสัตว์โลกล้านปีถึงโตไม่หยุด จนกระทั่งมีลำตัวขนาดมหึมา
นักวิจัยจากแคนาดาได้ค้นพบฟอสซิลเปลือกไข่และกระดูกของตัวอ่อนที่ไม่ได้ฟักประมาณ 20 ตัวของหลูเฟิงโอซอรัส ไดโนเสาร์คอยาว ซึ่งเมื่อโตเต็มที่จะมีความยาว 8 เมตร ที่อำเภอหลูเฟิง ใกล้กับเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน
ผลการวิเคราะห์บ่งบอกว่า ไดโนเสาร์ที่พบในไข่เหล่านี้โตเร็วมากเมื่อเทียบกับพวกสัตว์เลื้อยคลานสมัยใหม่ ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกมันต้องลดความเสี่ยงที่จะถูกเหล่านักล่าเจาะไข่กิน ก่อนที่จะฟักออกมาเป็นตัว
หลังออกจากไข่แล้ว ไดโนเสาร์ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปอีก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะจำเป็นต้องหลบเลี่ยงการถูกสัตว์อื่นจับกินนั่นเอง
@ ภาพวาดแสดงตัวอ่อนของหลูเฟิงโอซอรัส
นักวิจัยยังพบซากของเนื้อเยื่อกระดูกภายในไข่เหล่านั้นด้วย ซึ่งหวังกันว่าจะสามารถสกัดเอาสารอินทรีย์ออกมาศึกษาได้
ดร.โรเบิร์ต ไรซ์ แห่งมหาวิทยาลัยโทรอนโต บอกว่า ได้พบเส้นใยคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก โดยทั่วไปแล้ว คอลลาเจนมักเสียหายเมื่อซากสัตว์กลายเป็นฟอสซิล
การได้พบซากของโปรตีนในตัวอ่อนเช่นนี้ ถ้าหากสามารถสกัดเอาคอลลาเจนออกมาได้ ก็จะนำไปเปรียบเทียบกับของสัตว์ที่มีชีวิต เพื่อศึกษาถึงวิวัฒนาการ
@ หลูเฟิงโอซอรัส พบในมณฑลยูนนานของจีน
หลูเฟิงโอซอรัสเป็นไดโนเสาร์กินพืช เดินด้วยสองขา มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นยุคจูราสสิกเมื่อกว่า 190 ล้านปีก่อน ไข่ทั้งหมดที่พบมีสภาพแตกแล้ว มีกระดูกของไดโนเสาร์ที่กำลังเติบโตอยู่ข้างใน
ดร.ไรซ์ บอกในวารสาร Nature ว่า ไข่เหล่านั้นมาจากรังหลายรัง ถูกทำลายแตกก่อนที่จะจมน้ำและถูกทับถมด้วยดินตะกอน มีอายุผิดแผกแตกต่างกัน
ผลวิเคราะห์ระบุว่า ลูกไดโนเสาร์ในไข่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และฟักออกจากไข่ในเวลาไม่นานหลังการวางไข่ของแม่
นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ไข่จะเจริญเติบโตเต็มที่ภายใน 1-2 เดือน ขณะที่ลูกไก่ใช้เวลาฟัก 21 วัน จระเข้ใช้เวลา 105 วัน และมังกรโคโมโด สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ใช้เวลา 8 เดือน
กระดูกของไดโนเสาร์ที่นำมาวิเคราะห์ มีความยาวตั้งแต่ 12 มม.จนถึง 22 มม. แสดงว่าพวกมันเติบโตขึ้นสองเท่าในเวลาแค่สองสามสัปดาห์
ลักษณะการเติบโตที่ปรากฏในชิ้นกระดูก ยังบ่งชี้ด้วยว่า ลูกไดโนเสาร์มีการขยับตัวเคลื่อนไหวไปมาอยู่ภายในไข่ เพราะกล้ามเนื้อของพวกมันทำงานได้ดีมาก
เป็นไปได้ว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เพื่อให้พร้อมแก่การหลบหนีสัตว์นักล่าเมื่อออกจากไข่แล้ว
"นับเป็นครั้งแรกที่พบการขยับตัวของตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่อยู่ในไข่" ดร.ไรซ์บอก.
Source : Daily Mail