ไม่พบผลการค้นหา
มีข่าวแพร่สะพัดว่าโครงการเมกะโปรเจคที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรเนื่องจากจีนและญี่ปุ่นประเมินว่าโครงการนี้ไม่น่าสนใจเท่าที่คิด

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีข่าวแพร่สะพัดว่าโครงการเมกะโปรเจคที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรเนื่องจากจีนและญี่ปุ่นประเมินว่าโครงการนี้ไม่น่าสนใจเท่าที่คิด แต่รัฐบาลเมียนมาร์ รวมถึงไทยเอง ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้อย่างจริงจัง


โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายบริเวณชายฝั่งเมียนมาร์ ซึ่งกินเนื้อที่กว่า 200 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังกว่า 10 เท่า ไม่ได้เป็นโครงการที่ใหญ่โตโดยขนาดพื้นที่เท่านั้น แต่ยังถือเป็นเมกะโปรเจคยักษ์ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในแง่ที่ว่าหากโครงการนี้สำเร็จ ก็จะเป็นการพลิกโฉมหน้าภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของอาเซียนไปอย่างสิ้นเชิง โดยจะทำให้แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East West Corridor เชื่อมต่อระหว่างทวาย กาญจนบุรี ออกไปยังกัมพูชา และเวียดนาม กลายเป็นเส้นทางเศรษฐกิจขนถ่ายสินค้าที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน


อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์ ได้ขยายมาเป็นโครงการที่ต้องการผู้ร่วมหุ้นจากต่างประเทศ เนื่องจากงบประมาณในการพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมทวายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล โดยประเทศที่มีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะเข้าร่วมทุนในโครงการนี้ก็คือจีน ซึ่งมีผลประโยชน์อยู่ในแถบนี้มาก และญี่ปุ่น ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและท่าเรือ อีกทั้งยังมีกิจการอยู่ในไทยมากเช่นเดียวกัน


และการหาผู้ร่วมทุนนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหา โดยสำนักข่าวอิระวดีของเมียนมาร์รายงานว่าโครงการทวายทำท่าว่าจะหยุดชะงักและล่าช้าไปในช่วงนี้ เนื่องจากนักลงทุนชาวจีนและญี่ปุ่นประเมินแล้วพบว่าการเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้ ไม่คุ้มทุนเท่าที่มีการคาดหวังและโฆษณาเอาไว้ ทำให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศลังเลที่เข้ามาร่วมทุน จนอนาคตของโครงการทวายดูท่าว่าจะเริ่มไม่แน่นอน


อย่างไรก็ตาม นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ในฝ่ายไทย ยืนยันว่าโครงการทวายยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างแน่นอน


เช่นเดียวกับนายเซ็ต อ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของเมียนมาร์ ที่ยืนยันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ลังเลที่จะร่วมทุน แต่เป็นอุปนิสัยของชาวญี่ปุ่นที่จะทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอน จนทำให้กระบวนการอาจล่าช้าไม่ทันใจคนบางกลุ่ม


ถึงแม้ว่าทั้งฝ่ายไทยและเมียนมาร์จะช่วยกันยืนยันอย่างแข็งขันเช่นนี้ แต่ตราบใดที่ยังคงไม่มีท่าทีจากญี่ปุ่นและจีน ว่าจะเข้ามาร่วมทุนโครงการอภิมหาเมกะโปรเจคนี้หรือไม่ และเมื่อใด อนาคตอันยิ่งใหญ่ของโครงการทวายก็ยังคงถูกมองว่าเริ่มมีความไม่แน่นอนสูงอยู่ดี

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog