เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอเนื้อหาที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป แสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนรายงานข่าวเหตุระเบิดบริเวณอาคารครอบเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูจิมะ-ไดอิชิ อย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้ผู้ที่ติดตามข่าวเกิดความสับสนหรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี, กัมมันตภาพรังสี และหน่วยวัดระดับรังสี วันนี้ผมได้ไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้มาครับ
ในสภาวะปกติอะตอมของธาตุหรือสสารต่างๆ เช่น ออกซิเจน ไอโอดีน และโปแตสเซี่ยม จะอยู่ในสภาพเสถียร แต่เมื่อได้รับการกระตุ้นจนเกิดการแตกตัว อะตอมของธาตุเหล่านั้นก็จะพยายามกลับเข้าสู่สมดุล โดยการปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของรังสี ซึ่งเราเรียกอะตอมของธาตุที่ปลดปล่อยรังสีออกมาว่า "สารกัมมันตรังสี" และเรียกปริมาณรังสีที่ตรวจวัดได้ว่า "กัมมันตภาพรังสี" โดยปริมาณรังสีจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ซึ่งสารกัมมัมตรังสีที่รั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูจิมะ-ไดอิชิ ในประเทศญี่ปุ่นมีหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้เป็นเกณฑ์ตรวจวัด คือ ไอโอดีน-131 และซีเซียม-137 เนื่องจากเป็นสารที่ตรวจวัดได้ง่าย
นี่คือเครื่องตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในอากาศ ซึ่งติดตั้งอยู่บนชั้น 7 ของอาคารสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ สามารถรายงานผลได้ตลอดเวลา แต่หลังเกิดเหตุสารกัมมันรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น สำนักงานจึงเพิ่มการรายงานผลพร้อมกับสถานีตรวจวัดอีก 6 แห่งประเทศ เป็นวันละ 3 ครั้ง
การตรวจวัดปริมาณกัมมันตรังสีที่ปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อม ใช้หน่วยวัดเป็นซีเวิร์ต ซึ่งมักจะได้ยินอยู่ 3 แบบคือ มิลลิซีเวิร์ต, ไมโครซีเวิร์ต และนาโนซีเวิร์ต จะใช้แบบไหนขึ้นอยู่กับปริมาณกัมมันตรังสีที่ตรวจพบ
หากพบน้อยมากจะรายงานเป็นนาโนซีเวิร์ต เช่น 1 นาโนซีเวิร์ต จะเท่ากับ 0.001 ไมโครซีเวิร์ต และเท่ากับ 0.000001 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งคนทั่วไปควรได้รับรังสีไม่เกิน 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี เพราะหากมากกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ตั้งแต่เป็นหมันชั่วคราว ปริมาณเม็ดเลือดขาวลดลง อ่อนเพลีย ผมร่วง และเสียชีวิต
รักษาการ ผอ.สํานักกํากับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ยอมรับว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหวในญี่ปุ่นน้อยมาก เนื่องจากสารเมื่อฟุ่งกระจายสู่อากาศจะมีความเจือจางลง อีกทั้งในฤดูนี้ ลมไม่ได้พัดเข้าหาประเทศไทย และจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากประเทศไทยกว่า 5,000 กิโลเมตร
ส่วนความกังวลเรื่องการปนเปื้อนในอาหารและนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น ก็มั่นใจได้เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบความผิดปกติถึงขั้นร้ายแรง
ผลการตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในอากาศทั่วประเทศไทย เมื่อเวลาประมาณ 17.00น. พบว่ายังอยู่ในระดับปกติ อย่างเช่นในกรุงเทพฯ มีรังสีแกมมาอยู่ในระดับ 46 นาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ส่วนที่ จ.ระนอง มีรังสีแกมมาอยู่ในระดับ 120 นาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมง แต่หากเมื่อไหร่ที่ตรวจพบว่ามีระดับรังสีแกมมาอยู่ที่ 200 นาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมง หรือมากกว่านั้นก็จะต้องติดหาสาเหตุ และแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
Produced by VoiceTV