ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดูว่าศรีลังกาใช้วิธีใดในการยุติกระบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ในที่สุด

หากพูดถึงปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงและโหดร้ายมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของโลกในอดีต หลายคนอาจนึกถึงสงครามระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬในศรีลังกา ซึ่งจบลงเมื่อ 4 ปีก่อน ไปย้อนดูว่าศรีลังกาใช้วิธีใดในการยุติกระบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ในที่สุด 

 

สงครามอันนองเลือดในศรีลังการะหว่างชาวทมิฬในเขตจัฟนา ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นหนึ่งในความขัดแย้งภายในที่รุนแรงที่สุดในการเมืองโลกยุคร่วมสมัย จนแทบไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถยุติปัญหานี้ได้อย่างราบคาบเมื่อปี 2552

 

ถึงแม้ว่าชาวทมิฬจะนับถือศาสนาฮินดู ขณะที่ชาวสิงหลนับถือศาสนาพุทธแบบเคร่งครัด แต่ความแตกต่างในด้านความเชื่อ ไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวทมิฬเช่นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ รากเหง้าของปัญหานี้ที่แท้จริงเกิดจากกระบวนการ "แบ่งแยกแล้วปกครอง" หรือ Divide and Rule ของอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคม

 

เมื่อศรีลังกาประกาศเอกราชจากอังกฤษ และเริ่มกระบวนการสร้างชาติสมัยใหม่ ความแตกแยกระหว่างชนต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ก็ยิ่งร้าวลึกยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลสั่งควบรวมกิจการสถานศึกษาเป็นของรัฐ และบังคับใช้หลักสูตรที่มีเนื้อหายกย่องชาวสิงหลและศาสนาพุทธเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ชาวทมิฬรู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง จนก่อเกิดเป็นขบวนการประกาศเอกราช นำโดยกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลม หรือทมิฬไทเกอร์

 

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาแบ่งแยกดินแดนในศรีลังกาซับซ้อนอย่างมาก ก็คือการที่รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ สนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องทมิฬในศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่กล้ายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และสร้างความแตกแยกภายในประเทศ

 

โดยนายราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียผู้เดียวที่กล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนันสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬของรัฐบาลทมิฬนาฑู ก็ต้องพบกับจุดจบที่น่าเศร้า โดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียง ซึ่งคาดกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้สนับสนุนพยัคฆ์ทมิฬในอินเดีย

 

ท่ามกลางการต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬ มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 2552 นายมหินทา ราชาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า 25 ปีอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าในปัจจุบันสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะรายงานตรงกันว่าปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้น เป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากก็ตาม

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog