วันนี้เมื่อ 10 ปีก่อน สหรัฐฯและอังกฤษร่วมทำสงครามบุกอิรักจนนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลของนายซัดดัม ฮุสเซนสำเร็จ แต่มันเป็นเพียงชัยชนะอันแสนสั้น ที่แลกด้วยผลกระทบที่ตามมาอย่างใหญ่หลวง และอาจหมายถึงราคาที่แท้จริงของสงครามที่ทุกคนต้องแบกรับอย่างเลี่ยงไม่ได้
วันที่ 19 มีนาคม ปี 2546 สหรัฐฯ และอังกฤษ ฝ่ากระแสคัดค้านของประชาคมโลก ด้วยการบุกโจมตีอิรัก เพื่อโค่นล้มอำนาจของนายซัดดัม ฮุสเซน ด้วยข้ออ้างที่ว่า รัฐบาลของนายซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงซุกซ่อน และให้การสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายอัลกออิดะห์
อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลสหรัฐฯสมัยนั้น ต่างออกมายอมรับในเวลาต่อมาว่า ข้ออ้าง และเงื่อนไขที่ใช้โจมตีอิรักดังกล่าว เป็นความผิดพลาดของงานข่าวกรอง และการแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการโจมตีอิรัก
การทำสงครามที่ยังไม่มีความชัดเจนในข้อกล่าวหาครั้งนั้น ทำให้เกิดการต่อต้านสงครามอิรักไปทั่วโลก โดยผู้ประท้วงกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุผลที่แท้จริงของสงคราม คือ ผลประโยชน์ของบริษัทพลังงานที่รัฐบาลสหรัฐฯให้การสนับสนุน แต่กระนั้น สหรัฐฯ และอังกฤษก็ยังคงบุกตะลุยจนสามารถยึดกรุงแบกแดด ของอิรักได้สำเร็จ และยึดครองทั้งประเทศแบบเบ็ดเสร็จในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
สหรัฐฯลงทุนกับสงครามอิรัก ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2553 รวมทั้งการสู้รบในอัฟกานิสถาน และตามแนวชายแดนปากีสถาน รวมมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การทำสงครามของสหรัฐฯเลยก็ว่าได้
แต่นั่นยังไม่นับราคาแฝงที่ต้องชดใช้อีกมากมาย ทั้งความเสียหายตามเมืองต่างๆในอิรัก ที่กลายเป็นซากปรักหักพัง เศรษฐกิจชะงักงันยาวนาน ชีวิตชาวอิรัก สื่อมวลชน และชาวต่างชาติต้องล้มตาย ส่วนทหารอเมริกันทั้งที่ประจำการ และถอนกลับประเทศไปแล้วนั้น ก็ต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตใจที่ส่วนใหญ่ไม่จบที่มีอาการป่วยทางจิต ก็เลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
เรื่องเหล่านี้เองที่ทำให้สิบตรีแบรดลีย์ แมนนิง ทหารชาวอเมริกันซึ่งถูกดำเนินคดีให้ข้อหาเปิดเผยข้อมูลลับของทางการสหรัฐฯให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์ พยายามบอกกับทุกคนให้รู้ราคาที่แท้จริงของสงครามว่ามีมูลค่ามากมายเพียงใด และเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ไม่ว่าใครที่เกี่ยวข้องกับสงครามในครั้งนั้น พวกเขาเหล่านั้น ล้วนมีหนี้ที่ต้องชดใช้พร้อมกับแบกรับบทเรียนของสงครามไปชั่วลูกชั่วหลาน