ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการไทยมอง การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน มีอยู่ แต่ไม่ถูกผลักดันประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร

ในช่วงเวลาที่ทุก ภาคส่วนในไทยกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจการเมือง เรื่องของวัฒนธรรมกลับไม่ค่อยมีใครพูดถึง โดยเฉพาะการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งนักวิชาการไทยมองว่ามีอยู่ แต่กลับไม่ถูกผลักดันประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร

 
คงต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ ภาพธงอาเซียนปลิวไสว หรือการจัดกิจกรรมสัมนา ไปจนถึงรายการและข่าวตามสื่อมวลชนทุกแขนงเกี่ยวกับอาเซียน เป็นหลักฐานบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าสังคมไทยกำลังตื่นตัวกับการเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้อย่างมาก
 
แต่ส่วนใหญ่แล้ว การพูดคุยถกเถียง และเตรียมความพร้อมสำหรับทั้งเอกชนและราชการไทย มุ่งเน้นที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเมืองมากกว่าในด้านสังคมวัฒนธรรม ทั้งๆ ที่เรื่องของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมร่วมอาเซียนเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมให้การรวมประชาคมอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่น ตามคำขวัญอันสวยหรูที่ว่า One Vision, One Identity, One Community หรือหนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม
 
ด้วยเหตุนี้ การจัดงานสัมนาของกรมประชาสัมพันธ์ ภายใต้หัวข้อ "อัตลักษณ์อาเซียนมีหรือไม่" ซึ่งมีสื่อมวลชนและนักวิชาการมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสังคมวัฒนธรรมในอาเซียน โดยเฉพาะการหาอัตลักษณ์ร่วมกันที่มากกว่าคำพูดที่ว่า "อัตลักษณ์ของอาเซียนก็คือความหลากหลาย" ซึ่งกลายเป็นการย้อนแย้งว่าอัตลักษณ์ของอาเซียนก็คือการไม่มีอัตลักษณ์นั่นเอง
 
ผู้ช่วยศาสตรจารย์กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียนมีอยู่หลายประการ แต่เป็นทั้งในแง่บวกและแง่ลบ โดยในแง่บวก ก็คือการมีประวัติศาสตร์ร่วมกันในการเคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกและต้องต่อสู้เรียกร้องเอกราช ไปจนถึงวัฒนธรรมการรักครอบครัว อุปนิสัยร่าเริง การเป็นเจ้าภาพที่ดี ไปจนถึงวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมอย่างอาหารหรือสถาปัตยกรรมที่มีรากเหง้าใกล้เคียงกัน
 
ขณะที่อัตลักษณ์ร่วมของชาติอาเซียนในแง่ลบ ก็คือการทุจริตคอรัปชั่น เล่นพรรคเล่นพวก ไปจนถึงการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม ที่แอบแฝงอยู่แม้แต่ในประเทศที่ดูเป็นประชาธิปไตยอย่างไทยและสิงคโปร์ และที่สำคัญที่สุดก็คือวัฒนธรรมชาตินิยมล้นเกิน ที่สร้างความบาดหมางโดยไม่จำเป็นระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนหลายครั้ง โดยล่าสุด ก็คือกรณีพิพาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวของวัฒนธรรมอาเซียน
 
ซึ่งในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์พิเศษชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมชาตินิยม ซึ่งยังคงอยู่เหนือวัฒนธรรรมภูมิภาคนิยมตามที่อาเซียนควรจะมี เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "ประวัติศาสตร์บาดแผล" หรือการที่แต่ละชาติสร้างประวัติศาสตร์แบบกล่าวหาชาติเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในแบบเรียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย ซึ่งทำให้เกิดทัศนคติผิดๆ ระหว่างประชาชน กลายมาเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน
 
ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ยังกล่าวอีกว่า การสร้างอัตลักษณ์และความร่วมมือทางสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญในอาเซียน จึงควรเริ่มจากให้รัฐมนตรีศึกษาธิการชาติอาเซียน ร่วมกันสะสางหลักสูตรการเรียนประวัติศาสตร์ที่เน้นสันติภาพ และสร้างความเข้าใจระหว่างชาติเพื่อนบ้านมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกด้วยว่า หากคนไทยและชาวอาเซียนทั้งหมดต้องการพัฒนาเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างราบรื่น จะต้องอาศัยความใกล้ชิดทางสังคมวัฒนธรรมในระดับประชาชนอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ภาษาชาติเพื่อนบ้านหรือการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอาเซียน มากกว่าการติดธงชาติหรือแต่งกายชุดประจำชาติที่ไม่ได้ใช้แต่งกันจริงๆในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทัศนคคติภูมิภาคนิยม อยู่เหนือความเป็นชาตินิยมที่ฝังรากลึกมานานในอาเซียนให้ได้
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog