ไม่พบผลการค้นหา
เกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และยังสามารถเพิ่มผลผลิตข้าว ได้สูงกว่า 1 ตันต่อไร่

เกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และยังสามารถเพิ่มผลผลิตข้าว ได้สูงกว่า 1 ตันต่อไร่ ทั้งนี้ยังได้มีการรวมกลุ่มกับชาวนาในพื้นที่ จัดตั้งกลุ่มเพื่อให้ความรู้ในการทำนาด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ด้วย 

 

แปลงนาพันธุ์ กข.47 กว่า 50 ไร่ ในอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ให้ผลผลิตข้าวกว่า 1,500 กิโลกรัมต่อไร่  ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยผลผลิตของชาวนาไทยถึง 3 เท่า เป็นของนายกำพล ทองโสภา ชาวนาที่ปลูกข้าวมานาน 30 ปี แต่ได้เปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาใช้การปลูกแบบอินทรีย์ นานกว่า 10 ปี 

 

ซึ่งเขาบอกว่า นอกจากจะลดต้นทุนในการผลิต จาก 5,700 บาทต่อไร่ เหลือเพียง 2,000 บาทต่อไร่แล้ว การทำนาด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ยังทำให้เขาได้ผลผลิตมากกว่าเดิม และช่วยให้ผู้บริโภคได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพด้วย

 

พื้นที่ในละแวกเดียวกัน ของอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ยังมีชาวนาอีกว่า 40 คนใช้แนวทางปลูกข้าวแบบเดียวกับนายกำพล จนพวกเขาจัดตั้งกลุ่มข้าวปลอดภัยรักษ์ดอนเจดีย์ขึ้น เพื่อให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์กับผู้ที่สนใจ ให้หันมาสนใจการทำเกษตรอินทรีย์มากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี โดยจัดตั้งกลุ่มมานานกว่า 5 ปีแล้ว และขณะนี้มีสมาชิกประมาณ 50 คน 

 

วิธีการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์นี้ ทำให้นายกำพล ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดผลผลิตข้าวนาปี 55/56 ของกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งเขาอธิบายว่า ต้องเตรียมพันธุ์ข้าวให้เข้ากับท้องถิ่น และต้องปรับพื้นดินให้เสมอกัน ไม่เผาฟางหลังเกี่ยวข้าวแล้ว และราดน้ำหมักชีวภาพ ที่ได้จากหยวกกล้วย ไปช่วยย่อยฟางแทน ซึ่งยังเป็นปุ๋ยอย่างดีได้ด้วย  เช่นเดียวกับแหนแดงในแปลงนา ก็สามารถเป็นปุ๋ยพืชสดทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจนได้เช่นกัน จึงทำให้ได้ผลผลิตข้าวต่อไร่สูงกว่าปกติ ขณะที่ปัญหาแมลงศัตรูพืชนั้น เมื่อเกษตรกรไม่ใช้ยาฆ่าแมลงก็จะมีแมลงดีอย่างเต่าทอง และแมลงปอ มาช่วยกินไข่เพลี้ย ซึ่งเป็นศัตรูของข้าวตัวสำคัญ

 

วิธีการทำเกษตรอินทรีย์นี้ ประธานกลุ่มข้าวปลอดภัยรักษ์ดอนเจดีย์ บอกว่า เป็นการนำความรู้ที่ได้จากการไปอบรมจากหน่วยงานต่างๆ และการศึกษาดูงานในต่างประเทศและนำมาปฏิบัติ ซึ่งหากเกษตรกรไทยสามารถนำวิธีดังกล่าวนี้ไปใช้ก็จะทำให้ประเทศไทย มีผลผลิตข้าวต่อไร่ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม 592.4 กิโลกรัม อินโดนีเซีย 779 กิโลกรัม ฟิลิปปินส์ 616 กิโลกรัม มาเลเซีย 592 กิโลกรัม และลาว 588.8 กิโลกรัม ที่มีสถิติการผลผลิตข้าวต่อไร่ ได้น้อยกว่าผืนนาของนายกำพล ที่ทำได้กว่า 1,500 ไร่ 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog