"หลังการต่อสู้มานาน 20 ปี ท้ายที่สุดกลุ่มตาลีบันยึดอัฟกานิสถานกลับมาได้ ถือเป็นห้วงเวลาแห่งความภูมิใจ"
"เรายอมให้อภัยแก่เหล่าผู้ที่ต่อสู้กับเรา ความเป็นศัตรูได้จบสิ้นแล้ว เราไม่ต้องการศัตรูทั้งภายในและภายนอก .. เราให้อภัยต่อทุกคน เพื่อสร้างความมั่นคงหรือสันติภาพในอัฟกานิสถาน นักรบของเรา คนของเรา อภัยให้กับทุกคนจากทุกฝ่าย"
"ผู้ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ ถือเป็นความผิดของพวกเขาเอง ตาลีบันยึดครองประเทศได้ในเวลาไม่กี่วัน เราพยายามเลี่ยงการนองเลือด ทุกอย่างจะกระจ่างชัดขึ้น เมื่อเราจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์"
"หลังจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เราจะนำเสนอกฎหมายต่างๆ ที่ใช้ปกครองประเทศ แต่สิ่งที่บอกได้ในขณะนี้คือ กลุ่มตาลีบันจริงจังกับการตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เราจะประกาศความคืบหน้าอีกที .. แต่ตอนนี้ เราควบคุมพรมแดนทุกจุดได้แล้ว"
"เราไม่ต้องการให้ใครออกจากประเทศ ... เราจะมีการนิรโทษกรรม ไม่มีการแก้แค้นใดๆ .. จะไม่มีใครถูกลักพาตัว"
"ผู้หญิงจำทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เรา เราขอให้คำมั่นต่อประชาคมโลกว่า จะไม่มีการแบ่งแยกทางเพศเกิดขึ้น .. ตาลีบันจะอนุญาตให้ผู้หญิงทำงาน เข้าถึงการศึกษาภายใต้กรอบนโยบายทาง 'ศาสนา' ผู้หญิงจะมีบทบาทในสังคมของเรา ในกรอบการทำงานของเรา"
"ประเทศเราคือชาติมุสลิม ไม่ว่าจะ 20 ปีก่อน หรือตอนนี้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ตาลีบันใน 20 ปีก่อน ไม่เหมือนเดิมแล้ว เรามีประสบการณ์มากขึ้น มีวิสัยทัศน์มากขึ้น เราเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตและเติบโตแล้ว สิ่งที่เราจะทำหลังจากนี้จะพลิกโฉมตาลีบันอย่างมาก"
"ต่อจากนี้เราจะทำงานรับใช้ประเทศ เราจะทำเต็มที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน สร้างสันติสุขและความสงบแก่คนในชาติ"
ข้อความข้างต้นนี้คือตอนหนึ่งของประโยคที่ ซาบิฮัลลาห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มตาลีบัน แถลงต่อผู้สื่อข่าว หลังจากยึดอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถานได้ตั้งแต่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา การแถลงข่าวนี่นับเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการที่โลก ได้เห็นหน้าค่าตาผู้แทนของกลุ่มตาลีบันแบบตัวเป็นๆ
ตาลีบันในยุคใหม่มี "ทีมโฆษก" ที่คอยสื่อสารกับบรรดาสำนักข่าวต่างประเทศ ตาลีบันมีทีมงานที่คอยให้ข้อมูลทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ (PR) เรื่องต่างๆของกลุ่มแก่สื่อและชาวโลกให้ได้รับรู้ พวกเขามีการโพสต์หรือทวีตข้อความลงสื่อโซเชียลมีเดียในรูปแบบภาษาอังกฤษเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจน ต่างจากตาลีบันที่เคยปกครองอัฟกานิสถานช่วงปี 1989-2001 ซึ่งตาลีบันปกครองอัฟกานิสถานด้วยความเหี้ยมโหด ใช้กฎหมายชารีอะห์เคร่งจัดปกครองประเทศ บังคับใช้โทษประหารชีวิตในที่สาธารณะ ลงโทษด้วยการปาก้อนหิน ห้ามผู้หญิงทำงาน ห้ามเด็กหญิงเรียนหนังสือ ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมปิดหน้าและต้องมีญาติผู้ชายอยู่ด้วยขณะอยู่นอกบ้าน ห้ามผู้ชายเล็มหนวดเครา กดขี่ชนกลุ่มน้อยที่เป็นศาสนาอื่นอย่างชาวฮินดู ทำลายศาสนาวัตถุมรดกโลกอย่างพระพุทธรูปแห่งบามียาน สตรีแทบไม่มีสิทธิทางสังคมทั้งต้องสวมชุดคลุมศีรษะที่เรียกว่า 'เบอร์กา' ปกปิดตั้งแต่หัวจรดเท้า
ตรงข้ามกับตาลีบันเวอร์ชัน 2021 ที่ดูซอฟต์ราวกับจะเป็น "ตาลีบันสีพาสเทล" ภาพตามสื่อโซเชียลมีเดียที่ปรากฎออกมาหลังเข้ายึดกรุงคาบูลคือ (แต่พฤติกรรมจะเป็นไปตามคำมั่นที่ให้ไว้หรือไม่ นั่นอีกเรื่องนึง) บรรดานักรบตาลีบันที่ตื่นเต้นกับเครื่องเล่นในยิมฟิตเนสของทำเนียบรัฐบาล ขับรถบั๊มเล่นชนกัน สะพายปืนกลกระโดดบนแทรมโพลีนอย่างสนุกสนาน
จากพาดหัวที่บอกว่า "สวมสูทผูกไท" นั้น ผู้เขียนขออธิบายว่า ไม่ได้หมายความถึงกลุ่มตาลีบันจะตั้งรัฐบาลพร้อมสวมชุดสูทผูกเนคไทเหมือนอย่างฝรั่งตะวันตก (เชื่อว่าพวกเขาคงแต่งกายด้วยชุดแบบมุสลิม เนื่องจากอิทธิพลแบบศาสนา) แต่ผู้เขียนต้องการเปรียบเปรยว่า ตาลีบันยุคใหม่ ดูเหมือนจะมีจุดยืนและท่าทีที่โอนอ่อนผ่อนตามกับ "วิถีแบบตะวันตก" มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการสร้างเสถียรภาพในประเทศด้วยสันติวิธี ส่งเสริมสิทธิพลเมือง ทั้งดูเหมือนจะเปิดกว้างเรื่องสิทธิสตรีมากขึ้น (ผู้เขียนก็หวังให้เป็นเช่นนั้น)
จากการแถลงที่กลุ่มตาลีบันแสดงจุดยืนนั้น พอสรุปถึงสัญญาตาลีบันได้ดังนี้คือ
อย่างไรก็ตาม ดังเช่นที่โฆษกกลุ่มตาลีบันกล่าว "ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์" ในขณะนี้ยังเร็วเกินไปและยังไม่อาจฟันธงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของอัฟกานิสถานหลังจากนี้ได้ ตาลีบันหลังจากนี้จะเป็นตาลีบัน 2.0 เหมือนที่พวกเขาให้คำมั่นกับชาวโลกหรือไม่นั้น ทั้งโลกก็กำลังจับตามองอยู่
‘อิสลามเอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน’ (Islamic Emirate of Afghanistan)
คาดว่าจะเป็นชื่อใหม่อย่างเป็นทางการของอัฟกานิสถาน แทนที่ชื่อเดิมคือ สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน (Islamic Republic of Afghanistan) อันที่จริงชื่อนี้เคยถูกใช้เป็นชื่อขออัฟกานิสถานช่วงที่ตาลีบันปกครองประเทศอย่างโหดเหี้ยม ทว่าอย่างไรก็ตาม หากเป็นตาลีบันใหม่ยุค 2.0 เชื่อว่าโครงสร้างการบริหารและรัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถานจะไม่เหมือนรูปแบบที่เป็น "สาธารณรัฐอิสลาม" นี่คืออีกประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดเช่นกันว่า รูปร่างหน้าต่างของ 'ครม.ตาลีบัน' จะเป็นอย่างไร จะมีใครมานั่งเก้าอี้คณะบริหารบ้าง แล้วตาลีบันจะออกแบบระบบโครงสร้างการปกครองแบบใดนั้น อย่างที่ผู้เขียนบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องจับตา และตาลีบันก็ขอเวลา (อีกไม่นาน) เพื่อพิสูจน์ตัวเอง
ในห้วงเวลาแห่งความวุ่นวายในกรุงคาบูล ดูเหมือนจะมีสองชาติที่ไม่กระโตกกระตาก แห่อพยพเจ้าหน้าที่ของตนออกจากอัฟกานิสถาน ก็คือจีนกับรัสเซีย ซึ่งแน่นอนสองชาตินี้แสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลชุดใหม่ของตาลีบันมาตั้งแต่ก่อนยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จเสียอีก สำหรับจีนกับรัสเซีย ทั้งสองชาตินี้นั่งอยู่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้การรับรองสถานนะความเป็น "รัฐ" ของ ‘อิสลามเอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน’แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องพึ่งพาเสียงจากชาติตะวันตกอื่นในการรับรองด้วยเช่นกัน หากสังเกตจากที่ท่าของสหรัฐฯ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ระบุในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวเมื่อ 17 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า สหรัฐมีจุดยืนวางเงื่อนไขการยอมรับรัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถานว่า กลุ่มตาลีบันต้อง "ปรับปรุงตัวเสียใหม่" เลิกคบกลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงอย่างอัลกออิดะห์ เคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิสตรี
“พฤติกรรมของตาลีบันจะเป็นตัวกำหนดว่าสหรัฐฯจะยอมรับรัฐบาลใหม่ชุดนี้หรือไม่”
คำพูดของ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่แสดงจุดยืนของรัฐบาลวอชิงตันอย่างชัดเจนว่า คณะบริหารตาลีบันจะต้องทำตัวดีๆ ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับชาวโลก แล้วสหรัฐจะรับรองสถานะของรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและมนุษยธรรมแก่อัฟกานิสถาน
อนาคตของ‘อิสลามเอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน’เป็นเรื่องที่ต้องดูกันยาวๆ กลุ่มตาลีบันทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็เหมือนกับที่โฆษกของกลุ่มกล่าว ทว่าอย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางบางคนเตือนว่า "แม้ตอนนี้ตาลีบันจะมีคำพูดสวยหรู แต่ตาลีบันก็คือตาลีบัน อย่าเพิ่งไว้ใจกับคำพูดสวยหรูของตาลีบัน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: