ไม่พบผลการค้นหา
"ม็อบชุดดำ" ค้านแบน 3 สารเคมี บุกทำเนียบร้องนายกฯ ให้ คกก.วัตถุอันตรายยุติการพิจารณา ชี้ รธน. ม.73 ให้อำนาจเกษตรกรมีสิทธิเลือก ไล่ "มนัญญา" รมช.เกษตรและสหกรณ์ พ้นเก้าอี้เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

เมื่อเวลา 8.00 น. วันที่ 26 พ.ย.ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มคัดค้านการแบน 3 สารเคมีเกษตร จำนวนกว่า 2,000 คน ต่างใส่ชุดดำเข้าร่วมชุมนุม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรปลอดภัย นำโดย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรปลอดภัย กลุ่มเครือข่ายคนรักแม่กลอง นำโดย น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรและแนวร่วมผู้ได้รับผลกระทบจากการเเบน 3 สารเคมีเกษตร นำโดย นายชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่าย และกลุ่ม 3 สมาคม ดร.วีระวุฒิ กตัญญูกุล ประธานสมาคมไทยธุรกิจเกษตร ดร.เสาวลักษณ์ พรกุลวัฒน์ ประธานสมาคมอารักขาพืชไทย และดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮ้าส์ ประธานสมาคมการค้าวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย และเกษตรกรกว่า 1,000 คน เดินเท้าไปยังบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการแบน 3 สารเคมี ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนมติการแบนสารเคมีดังกล่าว โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือร้องเรียน

ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ออกแถลงการณ์ร่วม คัดค้านการยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอสเซต และไกลโฟเซต ในภาคการเกษตร เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ และจนถึงขณะนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังมิได้มีมาตรการรองรับผลกระทบจากการยกเลิกต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารและ ตลอดจนผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้การยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิดอย่างเร่งรีบและไม่มีมาตรการรองรับ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 มาตรา 73 เนื่องจากการยกเลิกส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรจำนวนมากกว่า 2 ล้านครัวเรือน ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้

อย่างไรก็ตามจากการที่ผลผลิตในประเทศลดลงร้อยละ 20-30 ในขณะที่ต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และการยกเลิกการใช้สารทั้งสองชนิดอย่างเร่งรีบและไม่มีมาตรการรองรับยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ที่นอกจากจะประสบภาวะขาดแคนวัตถุดิบจัดการที่ผลผลิตในประเทศลดลงยังไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้เนื่องจากเงื่อนไขในการประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 387 พ.ศ.2560 อันจะนำไปสู่วิกฤตการขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศคิดเป็นมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท และการจ้างงานในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจำนวนกว่า 12 ล้านคน ฉะนั้นทางกลุ่มจึงขอให้รัฐบาลดำเนินการยุติการยกเลิกศาลทั้งสามชนิดจนกว่าจะมีผลการศึกษาทบทวนข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างถี่ถ้วน รอบคอบและเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบผลการศึกษาอย่างชัดเจน และให้บังคับใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระหว่างมีการศึกษาทบทวน เพื่อส่งเสริมการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้อง และปลอดภัยภายใต้แนวทางของเกษตรกรปลอดภัย

นายชัยภัฏ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 73 ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าวันนี้ใครหรือหน่วยงานใดก็ตาม ถ้ากระทำการที่มห้เกิดกติกาทางรัฐธรรมนูญ ตนถืออาจจะมีความผิด ซึ่งเกษตรกรอาจจะไปฟ้องได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราต่อสู้กันแบบต่างคนต่างเดินหน้า แต่วันนี้เราเราบวมปวดชัดเจนโดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือการจำกัดการใช้ 3 สารเคมี เกษตร ตรมที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาแบน 3 สารเคมี เคยลงมติไว้ ซึ่งเราเชื่อว่าการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา อาจจะมีแรงกดดันและข้อมูลบางอย่างที่ไม่ครบถ้วนในทุกด้าน ตนจึงอยากให้นายกรัฐมนตรีต้องทบทวนเรื่องนี้และยุติการพิจารณาแบบเร่งด่วน รวดเร็ว ซึ่งอาจจะบกพร่องได้ 

ด้าน น.ส.อัญชุลี กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยกัน 5 ข้อ  

1.เกษตรกรขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 43 (3) ประกอบมาตรา 77 ทวงสิทธิ์ผลการรับฟังความคิดเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คัดค้านการแบน 3 สาร

2.ขอให้ตระหนักถึงผลกระทบของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยในมติหรือการให้ความเห็นของคณะกรรมการ การให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฏหมายอื่น และการออกประกาศของรมว.อุตสาหกรรมหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ให้คำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศอื่นประกอบด้วย 

3.ขอเรียกร้องให้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ หยุดปฎิบัติหน้าที่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่สร้างความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศจนนำมาสู่การชุมนุมคัดค้าน

4.ขอเรียกร้องให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ตลอดจนข้าราชการในกระทรวงสาธารสุข และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายด้านสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เสนอการแบนสารเคมีทางเกษตรทั้ง 3 ชนิด ให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะใบรายงานการตรวจสอบที่ยืนยันว่า ตรวจสารตกค้างของสารทั้ง 3 ชนิด ออกมายืนยัน

5.ขอเรียกร้องให้นักวิชาการแสดงความรับผิดชอบและยืนยันว่างานวิชาการที่วิจัยนั้น มีความถูกต้องตามหลักวิชาการจริง 

น.ส.อัญชุลี กล่าวว่า "เกษตรกรใคร่ขอความเป็นธรรม และขอความเมตตาจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพราะเป็นปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ขนาดนี้เกษตรกรทุกคนต้องประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน อีกทั้งยังมีวิกฤตที่จะเป็นห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ"

จากนั้นเวลา 11.00 น. ทางกลุ่มเดินเท้าต่อที่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือกับทางรัฐมนตรีต่อไป