รายงานพิเศษ 'ปักหมุด อำเภอนันทบุรี' ตอน 3
หนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานไว้ให้แก่คนในพื้นที่ คือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เพาะพันธุ์กวางผา สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
ชีวิตของกวางผา พ่อ-แม่พันธุ์ทั้ง 20 คู่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ด้วยความหวังที่จะคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ การดำเนินงานเพาะเลี้ยงกวางผา สัตว์ป่าสงวน ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2534 และตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ
และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ยังเป็นสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่เพาะพันธุ์กวางผา โดยตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่มีค่า หายากในพื้นที่ป่าอมก๋อย ไม่ให้สูญพันธุ์ และให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น สถานีแห่งนี้ จึงเริ่มเพาะเลี้ยงกวางผา ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2537 จากจุดเริ่มต้นที่มีพ่อ-แม่พันธุ์ 2 ตัว คือม่อนจอง และซีเกมส์ ที่ได้รับมาจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ได้ปล่อยกวางผาคืนสู่ป่าแล้ว 9 ตัว โดยก่อนปล่อย มีการติดวิทยุ เพื่อติดตามว่าสัตว์เหล่านี้ สามารถปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้มากน้อยเพียงใด
ขณะที่ระหว่างการเพาะพันธุ์ เจ้าหน้าที่สัตวบาลจะเฝ้าติดตามและเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิด เช่นการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อศึกษาพฤติกรรม และช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการผสมภัณฑ์ ซึ่งพ่อ-แม่พันธุ์กวางผา 1 คู่ จะออกลูกครั้งละ 1 ตัว โดยใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 7 เดือน
กวางผาเป็นสัตว์ที่มีความระแวดระวัง และว่องไวปราดเปรียว มีสายตาดีมาก การใช้ชีวิตส่วนใหญ่ อาศัยการมองดูมากกว่าการดมกลิ่นหรือฟังเสียง เหมือนสัตว์กินพืชทั่วไป และแม้ว่ากวางผาจะชอบอาศัยอยู่ตามหน้าผาสูงชัน แต่พบว่ากวางผาสามารถว่ายน้ำได้ดี
ปัจจุบันจำนวนกวางผาในประเทศไทยลดลงมาก เนื่องจากการบุกรุกที่ดิน และการไล่ล่า ตามความเชื่อที่ว่าน้ำมันจากกะโหลกของกวางผา มีสรรพคุณเป็นยาสมานกระดูกที่หัก และรักษาโรคไขข้ออักเสบ แม้ว่าจำนวนกวางผาจะลดลง แต่สำหรับชาวแม่ตื่นม่อนจอง รวมถึงนักท่องเที่ยว หากมีโอกาสเดินทางมาที่สถานีเพาะเลี้ยงอมก๋อย ก็จะได้เห็นกวางผา ที่ดอยม่อนจอง ซึ่งเป็นการพบกวางผาตามธรรมชาติได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง