ในยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลกบนพื้นทวีป สัตว์เลื้อยคลานทะเลตัวมหึมาเป็นจ้าวสมุทร นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบเป็นครั้งแรกว่า ยังมีสัตว์จำพวกเหี้ยแฝงตัวล่าเหยื่ออยู่ตามแม่น้ำลำธารด้วย
นักบรรพชีพวิทยาได้ค้นพบฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานน้ำจืด อายุ 84 ล้านปี ในประเทศฮังการี เป็นสัตว์ในวงศ์เดียวกับโมซาซอร์ ซึ่งดูคล้ายจระเข้ผสมกับวาฬ
ทีมวิจัยซึ่งนำโดย ลาสโล มากาดี นักบรรชีพวิทยาแห่งพิพิทธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฮังการี ได้ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้แก่สัตว์ในยุคครีเตเชียสตอนต้นชนิดนี้ว่า แพนโนเนียซอรัส อินเอ็กเพ็กเทตัส
ซากของสัตว์เลื้อยคลานน้ำจืดยุคดึกดำบรรพ์ ที่เพิ่งถูกระบุเป็นชนิดใหม่ที่ว่านี้ มีตั้งแต่ฟอสซิลของตัวที่ยังเล็กไปจนถึงพวกตัวโต ซึ่งมีความยาว 6 เมตร พวกมันมีแขนขาคล้ายตัวเหี้ย ส่วนหัวแบนคล้ายจระเข้ แต่ส่วนหางกลับไม่เหมือนหางของโมซาซอร์ชนิดไหนเลย
พื้นที่เหมืองเปิดในเขตเนินเขาบาโกนีฮิลล์ทางตะวันตกของฮังการี อันเป็นแหล่งค้นพบเจ้า Pannoniasaurus inexpectatus นั้น เคยเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เต่า จระเข้ กิ้งก่า และสัตว์เลื้อยคลานบินได้ หรือเทอโรซอร์ ไปจนถึงไดโนเสาร์ และนก
มากาดีบอกว่า แพนโนเนียซอรัสเป็นนักล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในน้ำจืดในยุคนั้น การพบฟอสซิลของสัตว์กินเนื้อชนิดนี้ในหลายช่วงอายุจำนวนหลายตัว บ่งบอกว่า พวกมันเป็นสัตว์น้ำจืดอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นแค่โมซาซอร์พันธุ์น้ำเค็มที่ว่ายเข้าไปในแม่น้ำเป็นครั้งคราว
นักวิจัยจะศึกษากันต่อไปว่า เจ้าแพนโนเนียซอรัส มีการเคลื่อนไหวไปมาในน้ำอย่างไร และกินอะไรเป็นอาหาร รวมทั้งแง่มุมทางชีววิทยาอื่นๆ
นักวิจัยร่วม ไมเคิล คาล์ดเวลล์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโมซาซอร์ แห่งมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ในแคนาดา บอกว่า ขณะที่พวกโมซาซอร์ทะเลว่ายน้ำโดยใช้ครีบขนาดใหญ่นั้น เแพนโนเนียซอรัสมีแขนขา ซึ่งอาจใช้ป่ายปีนได้ จึงเป็นไปได้ว่า มันอาจเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำด้วย
"มันอาจใช้ชีวิตเหมือนจระเข้ในปัจจุบัน ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ แต่อาจคลานจากแหล่งน้ำหนึ่งไปอีกแหล่งหนึ่งเมื่อน้ำเหือดแห้ง หรืออาจนอนตามท้องน้ำตื้นๆเพื่ออาบแดด หรือปรับอุณหภูมิร่างกาย" เขาบอก
รายงานการค้นพบนี้ ตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ PLoS ONE.
Source : LiveScience ; National Geographic News