ไม่พบผลการค้นหา
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์เร่ร่อนเป็นครั้งแรก อยู่ห่างจากโลกราว 100 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีประมาณ 4 เท่า

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์เร่ร่อนเป็นครั้งแรก อยู่ห่างจากโลกราว 100 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีประมาณ 4 เท่า

 

เหตุที่ถูกเรียกว่า ดาวเคราะห์พเนจร เพราะวัตถุที่มีชื่อว่า CFBDSIR2149-0403 นี้ ลอยคว้างอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใดดวงหนึ่ง

 

รายงานซึ่งกำลังจะตีพิมพ์ในวารสาร Astronomy and Astrophysics บอกว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบดาวเคราะห์ที่ไม่มีดาวฤกษ์ศูนย์กลางเช่นนี้ แต่นักดาราศาสตร์คาดว่า วัตถุแบบนี้อาจมีอยู่ทั่วไป เพียงแต่ตรวจพบได้ยากมาก

 

ดาวเคราะห์เอกเทศแบบนี้ อาจมีแหล่งที่มาได้ในแบบใดแบบหนึ่ง คือ ก่อตัวขึ้นจากฝุ่นในแผ่นจานสะสมสารรอบดาวฤกษ์ เช่นเดียวกับบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา แต่ต่อมาได้ถูกเหวี่ยงหรือชนให้หลุดจากวงโคจรเดิม หรืออาจก่อตัวขึ้นในลักษณะเดียวกับดาวฤกษ์ แต่มีมวลไม่มากพอที่จะกลายเป็นดาวฤกษ์

 

ถ้าเป็นในแบบหลัง วัตถุจะไม่สามารถจุดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น จึงไม่อาจปล่อยแสงในลักษณะเดียวกับดวงอาทิตย์ของเราได้ เราเรียกวัตถุแบบนี้ว่า ดาวแคระสีน้ำตาล

 

ไม่ว่ามีที่มาอย่างไร นักดาราศาสตร์พบว่า มันลอยดวงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ปลอดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์

 

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา สามารถตรวจพบได้ โดยสังเกตแสงของดาวฤกษ์ที่หรี่ลงตอนที่ดาวเคราะห์กำลังโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์เมื่อมองจากโลก แต่พอไม่มีดาวฤกษ์ จึงยากที่จะค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้ได้

 

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ตามล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ Canada France Hawaii Telescope บนยอดเขามัวนาคี ที่ฮาวาย กับกล้อง Very Large Telescope (VLT) ของยุโรป ในประเทศชิลี

 

เอเตียง อาร์ติโก แห่งมหาวิทยาลัยมอนทรีล ในแคนาดา บอกว่า ทีมงานได้กราดตรวจท้องฟ้ากินบริเวณกว้างเท่ากับ 1,000 เท่าของดวงจันทร์เต็มดวง ซึ่งมองเห็นดาวฤกษ์และดาวเคราะห์หลายร้อยล้านดวง แต่เจอดาวเคราะห์เร่ร่อนแค่ดวงเดียว

 

ที่น่าสนใจก็คือ ดาวเคราะห์ดวงนี้เคลื่อนที่ไปในฟากฟ้าสอดคล้องกับการเคลื่อนตัวของกลุ่มวัตถุเคลื่อนที่ซึ่งมีชื่อว่า "AB Doradus Moving Group" ซึ่งเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประมาณ 30 ดวง ทั้งหมดมีองค์ประกอบคล้ายกัน และก่อตัวขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

 

เพราะเหตุที่มีการเคลื่อนที่สอดคล้องกัน นักดาราศาสตร์จึงเชื่อว่า ดาวเคราะห์พเนจรดวงนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆกับดาวฤกษ์กลุ่มนี้ คือ เมื่อประมาณ 50-120 ล้านปีก่อน ซึ่งนับว่ายังมีอายุน้อยมาก

 

เมื่อประมาณอายุได้เช่นนี้ นักดาราศาสตร์จึงประเมินต่อไปอีกว่า วัตถุดังกล่าวมีอุณหภูมิประมาณ 400 องศาเซลเซียส และมีมวลประมาณ 4-7 เท่าของมวลของดาวฤหัส ซึ่งนับว่าเกือบถึงระดับที่จะจัดได้ว่าเป็นดาวแคระสีน้ำตาล

 

ประเด็นที่ยังไม่รู้แน่ชัดก็คือ ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นพวกเกิดมาตัวเล็ก จึงไม่อาจกลายเป็นดาวฤกษ์ได้ หรือว่าเป็นพวกที่ถูกดีดออกมาจากระบบสุริยะของมันเอง

 

หากเป็นอย่างหลัง นั่นหมายความว่า ในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้าง อาจยังมีดาวเคราะห์เร่ร่อนอีกจำนวนมาก ที่รอให้เราได้ค้นพบ

 

Source : BBC  

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog