เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอเนื้อหาที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป แสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา
แลนซ์ อาร์มสตรองไม่ใช่นักกีฬาชื่อดังคนแรกที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาใช้สารกระตุ้น ไปดูกันว่า นักกีฬาชื่อดังคนอื่นๆ มีใครบ้างที่เคยสร้างเรื่องอื้อฉาวจากการโด๊ปยามาแล้ว
ปัญหาการใช้สารกระตุ้นสมรรภาพร่างกายไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการกีฬาทั้งในการแข่งขันระดับชาติ และบนเวทีระดับโลก โดยคดีนักกีฬาโด๊ปยาที่โด่งดังมากที่สุดในอดีต สามารถย้อนกลับไปดูได้ตั้งแต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2531 โดยครั้งนั้น เบน จอห์นสัน นักวิ่งลมกรดชื่อดังชาวแคนาดา คือ ผู้ที่สร้างความฮือฮาด้วยการคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 เมตรชาย และทำลายสถิติโลก แต่ต้องมาตกม้าตายด้วยการถูกจับโด๊ปยา และโดนริบเหรียญรางวัล รวมถึงสถิติโลกทั้งหมดที่เขาเคยทำมาก่อนหน้านั้น
เบน จอห์นสัน และโค้ชของเขา ออกมายอมรับในเวลาต่อมาว่า เบน จอห์นสัน ใช้สารสเตียรอยด์เพื่อกระตุ้นสมรรถภาพร่างกายในการแข่งขันหลายครั้งที่ผ่านมา พร้อมกับกล่าวปกป้องการกระทำดังกล่าวของพวกเขาว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เนื่องจากนักกีฬาที่เป็นคู่แข่งคนอื่นๆ ต่างก็ใช้สารกระตุ้นเช่นเดียวกัน แต่เบน จอห์นสัน ถือเป็นนักกีฬาผู้โชคร้ายที่ถูกจับได้ในการโด๊ปครั้งนี้เสียก่อน
ทั้งนี้ หลังการตัดสิทธิ์ และยึดเหรียญรางวัลของเบน จอห์นสันแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิกได้ประกาศให้คาร์ล ลูอิส นักวิ่งในตำนานของชาวอเมริกัน ซึ่งได้อันดับ 2 ครองเหรียญทองดังกล่าวของเบน จอห์นสันแทน อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา คาร์ล ลูอิส รวมถึงนักวิ่งอื่นๆ อีก 4 คน ซึ่งเป็นคู่แข่งของเบน จอห์นสัน ในการแข่งขันรอบสุดท้าย ต่างก็ถูกพบสารกระตุ้นในร่างกายเช่นเดียวกัน แต่คาร์ล ลูอิส สามารถรอดพ้นบทลงโทษมาได้ หลังจากอ้างว่า เขาใช้สารดังกล่าวโดยไม่ได้ตั้งใจ และสารชนิดนั้นยังไม่ถูกขึ้นบัญชีดำอย่างเป็นทางการในช่วงเวลานั้น
ส่วนคดีต่อมาที่ฮือฮาไม่แพ้กัน คือ การใช้สารกระตุ้นของดีเอโก้ มาราโดนา นักฟุตบอลชาวอาร์เจนตินา ซึ่งถือเป็นนักเตะในตำนานของวงการฟุตบอลโลก
มาราโดนาถูกพบใช้สารกระตุ้นประเภทอีเฟดรีน ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2537 โดยเขาระบุในหนังสือประวัติชีวิตของตนเองว่า สารที่พบมาจากเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่งซึ่งเทรนเนอร์ส่วนตัวของเขานำมาให้ดื่มด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ มาราโดนายังอ้างว่า เขาได้ทำข้อตกลงกับสมาคมฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เพื่อใช้ยาลดน้ำหนักก่อนการแข่งขัน และเพื่อทำให้เขาสามารถลงเล่นในสนามได้ แต่ฟีฟ่ากลับปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าวในเวลาต่อมา
สำหรับผลของการพบสารกระตุ้นครั้งนั้น ทำให้มาราโดนา ถูกห้ามลงแข่งขัน และโดนส่งตัวกลับบ้านทันที นอกจากนี้ ยังทำให้ทีมชาติอาร์เจนตินาของเขาต้องเสียขวัญ และตกรอบการแข่งขันก่อนเวลาอันควร ขณะที่มาราโดนา ก็ประกาศยุติบทบาทในฐานะนักเตะทีมชาติ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามาเป็นเวลา 17 ปีลงด้วยเช่นกัน
ส่วนในวงการกีฬาไทย ในเรื่องของสารกระตุ้น เคยเกิดขึ้นในกีฬายกน้ำหนัก เมื่อปีที่ผ่านมา โดยสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ หรือ ไอดับเบิลยูเอฟ ได้ตรวจพบสารกระตุ้นในนักกีฬาไทย 7 คน ซึ่งเป็นสารต้องห้ามชนิดเดียวกันคือ เมธทัลดีโนน เป็นตัวยาในกลุ่มอนาโบลิค สเตียรอยด์ ที่ส่งผลในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยตรวจพบในนักกีฬาหญิง 6 คน และประเภทชาย 1 คน จากการแข่งขัน 3 รายการ คือ ในรายการยุวชน และเยาวชนชิงชนะเลิศเอเชีย ที่พัทยา
รายการ เยาวชนชิงแชมป์โลก ที่ประเทศมาเลเซีย และ รายการเยาวชนชิงชนะเลิศของโลก ที่กรุงลิม่า ประเทศเปรู ซึ่งทั้งหมดถูกไอดับเบิลยูเอฟ ลงโทษห้ามแข่งขัน 4 ปี พร้อมสั่งปรับเงินสมาคมยกน้ำหนักแห่งประเทศไทยจำนวน 10 ล้าน 5 แสนบาท ก่อนจะลดโทษในภายหลังให้เหลือเพียง 2 ปี ขณะที่การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2007 มีนักกีฬาไทย 2 คน คือ นักมวยสากลสมัครเล่นชาย และนักวอลเลย์บอลชาย อย่างละ 1 คนไม่ผ่านการตรวจสารต้องห้ามเช่นกัน