ครั้งหนึ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัย ต้องทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง จำเป็นต้องโทรหาเพื่อนคนหนึ่งเพื่อสอบถามรายละเอียด โทรไปดังอยู่หลายตื๊ดก็มีคนรับ แต่รับแล้วทำเสียงแปลกๆ เป็นเสียงคราง อืออออ...อออ.... ยาวๆ ขาดเป็นช่วงๆ เหมือนสัญญาณไม่ดี แล้วจู่ๆ สายก็ตัดไป...
พอมาเจอเพื่อนคนนั้นที่คณะเลยถามถึงโทรศัพท์ เพื่อนทำหน้าตกใจ ถามว่าโทรไปเบอร์ไหน ปรากฏว่านั่นเป็นเบอร์เก่าที่เอาให้แม่ใช้ไปแล้ว และแม่ของเพื่อนเพิ่งเสียไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ตอนนี้โทรศัพท์เครื่องนั้นปิดไม่ได้ใช้....
นี่น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ใครๆ ก็บอกว่าเฉียดผีที่สุดของฉัน และมาคิดดูดีๆ เรื่องของฉันก็ทันสมัยในยุค 12-13 ปีก่อนเหมือนกัน เพราะผีหลอกผ่านสัญญาณมือถือ จนมาถึงยุคนี้ฉันได้ยินผ่านหูเรื่องผีใน VDO Call ผีใน Social network ฯลฯ ก็เลยยอมรับว่า ผีมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มีไอเดียใหม่ๆ ในการหลอกหลอนผ่านช่องทางต่างๆ เสมอ
แล้ว "ผี" ในอดีตหลอกกันอย่างไรล่ะ?
ฉันถามตัวเองแล้วก็เลยลองค้นดูเผื่อมีเรื่องผีๆ คูลๆ แล้วก็พบ 2-3 เรื่องที่น่าสนใจ อยากจะเล่าให้ฟังเผื่อเอาไว้แลกเปลี่ยน
เรื่องแรกฉันว่าน่าจะเก่าแก่สุดในยุคกรุงศรีฯ แถมคนเจอผีไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นคนระดับยอดบนของพีระมิด นั่นคือ "สมเด็จพระราเมศวร" กษัตริย์ลำดับที่ 5 โอรสของ "พระเจ้าอู่ทอง"
ในพงศาวดารเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่าเกิดขึ้นเมื่อศักราช 749 ในช่วงสถาปนาวัดภูเขาทอง ช่วงเย็นสมเด็จพระราเมศวรเสด็จไปพระที่นั่งมังคลาภิเษก และต้องพบเข้ากับเรื่องสยองขวัญจังๆ เพราะเจอ "ท้าวมณเฑียรซึ่งถึงอนิจกรรมแต่ก่อนนั้น มานั่งขวางทางเสด็จอยู่และหายไป" แปลง่ายๆ ว่าเจอ "ผีท้าวมณเฑียร" มาโชว์หายตัววับนั่นเอง
เหตุการณ์หลังเจอผี ปรากฏว่าสมเด็จพระราเมศวรก็เสด็จสวรรคต จากความตอนนี้เราไม่อาจรู้ว่านี่คือ "ประสบการณ์ผีหลอก" จริงๆ หรือเป็นเพราะขนบการเขียนพงศาวดารในอดีตที่ต้องซ่อนนัยหรือเล่าเรื่องเชิงสัญลักษณ์ จึงเลือกการปรากฏตัวของวิญญาณเพื่อปูเรื่องไปสู่การสวรรคตของกษัตริย์ ซึ่งนี่ก็สุดแล้วแต่การตีความ
เรื่องนี้สนุกมาก ไม่ได้อยู่ในพงศาวดาร แต่อยู่ใน "นิราศวัดเจ้าฟ้า" ในเนื้อเรื่องออกตัวว่า "เณรหนูพัด" บุตรชาย "สุนทรภู่" เป็นคนแต่ง แต่หลายๆ คนเชื่อว่าสุนทรภู่นี่แหละเขียนขึ้นเอง แต่ไม่อยากออกตัวเพราะตอนนั้นอยู่ในเพศสมณะ
อ่ะ! เข้าเรื่องผี.. ในนิราศเนี่ยเล่าเรื่องการเดินทางของสุนทรภู่และคณะไปยัง "วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์" ที่อยุธยา ระหว่างทางก็มาแวะพักที่วัดมอญย่าน "บางทะแยง" สันนิษฐานกันว่าอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ในปัจจุบัน สุนทรภู่ระบุในกลอนว่าจุดนั้นเป็น "ป่าช้า" และก็เจอดีกันทั้งคณะ เพราะ "ผี" มาทั้งภาพ เสียง และสัมผัสแบบเซอร์ราวน์ อ่านเป็นกลอนได้อารมณ์สยองไม่เบา
"บรรดาศิษย์บิดรที่นอนนอก ผีมันหลอกลากปล้ำพลิกคว่ำหงาย
ลุกขึ้นบอกลอกกลัวทุกตัวนาย มันสาดทรายกรวดโปรยเสียงโกรยกราว
ขึ้นสั่นไทรไหวยวบเสียงสวบสาบ เป็นเงาวาบหัวหกเห็นอกขาว
หนูกลั่นกล้าคว้าได้รากไทรยาว หมายว่าสาวผมผีร้องนี่แน"
อันนี้ดูหลอกแบบฮาร์ดคอร์มาก ทั้งดึงลาก โปรยทรายเสียงดัง ขย่มต้นไทร มาให้เห็นเป็นเงา แถมโดนกันหลายคนเป็นหมู่คณะ ท้ายที่สุดสุนทรภู่ดูเหมือนจะแก้ปัญหาผีหลอกจนไม่ได้หลับได้นอน ด้วยการ "อสุภกรรมฐาน" คิดปลงสังเวชจนหายกลัวไปซะงั้น เพราะท้ายที่สุดทุกคนก็ต้องตายตกไปตามกันไม่เว้นหน้า
"อสุภธรรมกรรมฐานประหารเหตุ หวนสังเวชว่าชีวังจะสังขาร์
อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา ที่ป่าช้านี่แลเหมือนกับเรือนตาย
กลับหายกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย
อันรูปเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง"
เรื่องนี้จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ฉันชอบจุดจบของเรื่อง ดูปลงๆ ดี แล้วก็ให้ข้อคิดไม่น้อย
เรื่องนี้มีในเน็ตเพียบ และหลายๆ แหล่งอ้างอิงว่ามาจากหนังสือวชิราวุธานุสรณ์ (วชิราวุธานุสรณ์สาร?) ฉันสนใจเรื่องจากเน็ตเรื่องนี้ เพราะอ่านสนุกดี และมีข้อชวนคิดให้ได้ลองสวมบทโคนัน
เรื่องนี้มี 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกเล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปสรงนํ้าพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ แต่ระหว่างเสด็จประทับบนรถยนต์ก็ทอดพระเนตรเห็น "พระฤทธิ์รณจักร" ยืนถวายความเคารพด้วยเครื่องแบบเต็มยศอยู่ เมื่อเสร็จสิ้นราชกิจช่วงกลางดึก ถึงได้เห็นจดหมายทูลลาตายตามธรรมเนียม และทรงทราบว่าพระฤทธิ์รณจักรถึงแก่กรรมตั้งแต่ช่วงเช้า สิ่งที่อินเตอร์เน็ตเล่าว่าทรงทอดพระเนตรเห็นนั้นจะเป็นอะไรไปได้เล่า....
ที่ฉันบอกว่าน่าสนใจอยู่ตรงนี้แหละ เพราะข้อเท็จจริงแล้วกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ขณะที่พระฤทธิ์รณจักร มีหลักฐานชัดเจนจาก "ประชุมพงศาวดารภาค 22" ฉบับพิมพ์แจกในงานศพของคุณพระเอง โดยคำนำส่วนประวัติพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุไว้ชัดเจนว่า คุณพระป่วยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2464 กล่าวคือคุณพระสิ้นไปก่อนหน้าเกือบ 4 ปี การที่อินเตอร์เน็ตเช่น TNEWS หรือ บทความในเว็บไซต์ผู้จัดการ บอกว่าคุณพระสิ้นชีพในช่วงสรงน้ำพระศพก็ดูเหมือนจะผิดไทม์ไลน์ไปหน่อย
งั้นมาดูอีกเวอร์ชั่น.. เวอร์ชั่นนี้ในเน็ตเล่าเหมือนกับเวอร์ชั่นแรก เปลี่ยนแต่เหตุการณ์ว่าเกิดขึ้นเมื่อตอนรัชกาลที่ 6 ร่วมงานวันเกิดจอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม แต่ข้อเท็จจริงจอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2464 ส่วนคุณพระป่วยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2464 นั่นหมายความว่าคุณพระสิ้นหลังเจ้าคุณกลาโหมเพียง 1 วัน ฉะนั้น เหตุการณ์ที่ว่าคุณพระสิ้นชีพช่วงงานวันเกิดท่านเจ้าคุณนั้นจึงดูจะไม่สมเหตุสมผล ที่ถูกต้องเหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงงานศพท่านเจ้าคุณมากกว่า
ถึงตรงนี้ ฉันได้รู้ 2 อย่างคือ ความเชื่อเรื่องผีไม่เคยหายไปจากสังคมไทย และเรื่องอะไรๆ ในเน็ต เช็คเสียก่อนก็ไม่เสียหลาย
อ้างอิง
วิกิพีเดีย: พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์
วิกิพีเดีย: ประวัติ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณฉัตร ฉัตรกุล)
http://www.tnews.co.th/contents/347860http://www.tnews.co.th/contents/347860
http://talk.mthai.com/inbox/131607.html
พระราชพงศาวดารกรุศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล (พิมพ์ครั้งที่ 2), กรุงเทพฯ : โฆษิต, 2549.