ช่วงนี้ชื่อกาตันลัน หรือกาตาลูญญา เป็นชื่อที่ใคร ๆ ก็ได้ยินกันบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่พวกเรารับรู้เรื่องราวความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของชาวกาตาลันอยู่เนือง ๆ ถึงขั้นที่คนดูอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ต้องนั่งเกาะขอบจอรอฟังสถานการณ์จากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกาตาลูญญากันรายวัน แต่กว่าสถานการณ์จะสุกงอมมาจนถึงวันนี้ได้นั้น ข้อสังเกตหนึ่งที่มองเห็นได้โดยไม่ยากเย็นนักคือวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ร่วมอันชัดเจนของชาวกาตาลัน ข้อนี้ทำให้อดสังสัยไม่ได้ว่าชาวกาตาลันเติบโตมาภายใต้วัฒนธรรมแบบใด ทำไมจึงเกิดกระบวนการแยกตัวเป็นเอกราชอันเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันขนาดที่ประชาชนลงคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 90 ให้ประกาศเอกราช
แต่ครั้นจะเดินทางไปสำรวจด้วยตัวเอง (แม้ใจจะอยากมาก) ก็คงลำบาก จึงขอถือโอกาสนี้พาทุกคนเดินทางตามหาหนังสือยอดนิยมที่ชาวกาตาลันนิยมอ่านกัน จากหลากยุคหลายสมัย เพื่อทำความเข้าใจชีวิตจิตใจผู้คนในดินแดนแถบนี้กัน
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกาตาลูญญาโดยสังเขปกันก่อน
ภาษากาตาลันถือเป็นภาษาในกลุ่มโรมานซ์และแยกมาจากภาษาละตินที่ใช้พูดในหมู่คนทั่วไป ส่วนภาษาสเปนนั้นมีรากมาจากภาษาละตินมาตรฐาน และแม้สองภาษานี้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาษาโรมานซ์เหมือนกัน มีคำศัพท์ไวยากรณ์คล้ายคลึงกันบ้างแต่ไม่ทั้งหมด หากวัดกันตามหลักการวิจัยความคล้ายคลึงกันทางภาษาแล้ว กาตาลันมีความคล้ายคลึงกับภาษาอิตาลีมากกว่าสเปนอยู่เล็กน้อย และความต่างส่วนใหญ่อยู่ในวิธีการออกเสียงและภาษาพูด จนมีบางคนบอกว่าภาษากาตาลันเหมือนฟังคนอิตาลี่พูดภาษาฝรั่งเศสนั่นแหละ (นึกภาพและเสียงไม่ออกเลยทีเดียว) ดังนั้นการแปลวรรณกรรมกาตาลันเป็นภาษาสเปนจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ้าง
ภาษากาตาลันมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาวกาตาลัน ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจุบันนี้อัตลักษณ์ของชาวกาตาลันอาจหมายถึงการเป็นคนที่พูดได้ทั้งภาษาสเปนและกาตาลันอย่างเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปนผู้ครองบัลลังค์สเปนในช่วงที่เกิดความเสื่อมถอยในแรงศรัทธาต่อระบบกษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เลือกเรียนภาษากาลาลัน ซึ่งแม้อาจเป็นนัยยะเชิงการเมือง แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นในวงสังคมชั้นสูงของสเปนทีเดียว ในเชิงนโยบายเป็นระยะเวลากว่า 30 ปีมาแล้วที่โรงเรียนในแคว้นกาตาลุญญาได้สอนวิชาต่าง ๆ ด้วยภาษากาตาลัน พร้อมกับการจัดสรรเวลาเพื่อที่เด็ก ๆ จะได้เรียนภาษาสเปน
หากถามถึงความแข็งแรงของวงการภาษาและวรรณกรรมกาตาลัน พลันนึกถึงมหกรรมหนังสือและวรรณกรรมเด็กที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เทศการวรรณกรรมเด็กแห่งโบโลญญาประจำปี 2017 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น มีการจัดแสดงหนังสือและวรรณกรรมจากภาษากาตาลันและหมู่เกาะแบลีแอริก (Balearic) ซึ่งเป็นแคว้นปกครองตนเองของสเปนอีกแห่งหนึ่ง ในฐานะแขกกิตติมศักดิ์ของงานบนพื้นที่ขนาด 176 ตารางเมตร สำนักพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปได้กล่าว่าวรรณกรรมเด็ก วรรณกรรมเยาวชน และวรรณกรรมภาพประกอบนั้นถือเป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดกันมาอย่างยาวนานแล้วในดินแดนแถบกาตาลุญญาและหมู่เกาะแบลีแอริคนี้ นอกจากนั้นในปี 2015 หนังสือปริมาณร้อยละ 14 ในประเทศสเปนถูกเขียนขึ้นในภาษากาตาลัน ในปี 2016 นั้นมูลค่าตลาดหนังสือคาตาลันนั้นสูงเกือบ 500 ล้านยูโร
งานของนักเขียนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งจากกาตาลุญญาเห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรามอน ลุยล์ (Ramon Llull) เขาคือนักเดินทางตัวจริงเสียงจริงของยุคกลาง เคยได้ไปสัมภาษณ์ทั้งพระสันตปาปาและพระราชาหลายพระองค์มาแล้วด้วยหน้าที่ความเป็นมิชชันนารี เขาคือนักเขียน นักปรัชญา กวี นักเทววิทยา ผู้มากความสามารถ และเขาเป็นผู้รังสรรค์นิยาย Blanquerna ถือเป็นวรรณกรรมชิ้นแรกในภาษากาตาลัน
1. Blanquerna บลังการ์นา 1283
บลังการ์นา Blanquerna เป็นชื่อตัวละครหลัก พ่อของเขา เอวาสต์ Evast มาจากจากตระกูลขุนนางผู้ต้องการแสวงหาแสวงหาเป้าหมายทางศาสนาและปรัชญา แต่ก็ต้องการใช้ชีวิตฆราวาสเฉกเช่นคนทั่วไป ในที่สุดเขาได้แต่งงานและกลายเป็นพ่อค้า คอยสั่งสอนลูกตัวเอง บลังการ์นา ให้เดินบนเส้นทางแห่งศาสนาและปรัชญาในเวลาต่อมา พระเอกของเราต้องฝ่าฟันความสับสนเหมือนกับบิดาตนเอง เขาต้องตัดสินใจเลือกระหว่างชีวิตทางโลกและทางธรรมผ่านการเดินทางไปตามเส้นทางต่าง ๆ ในยุโรป พบปะผู้คนที่เป็นทั้งแรงสนับสนุนและอุปสรรคสำหรับเขา
เล่มนี้ถือเป็นวรรณกรรมสำคัญที่ฉายภาพวีรบุรุษตามแบบแผนแห่งคริสตจักรผู้พยายามตามหาความสงบทางใจตลอดการเดินทาง ยิ่งไปกว่านั้นบันทึกการเดินทางของ บลังการ์นา คือภาพเชิงลึกของความเป็นไปในยุโรปสมัยศตวรรษที่ 13 ผ่านความขัดแย้งจากภายในและภายนอกที่ตัวละครเอกต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานะทางสังคม เศษรฐกิจ และจริยธรรม นอกจากนั้นยังได้มองเห็นถึงบรรยากาศการศึกษาของชนชั้นสูงยุคนั้นซึ่งเน้นเรื่องของศีลธรรมและการจัดการภายในครัวเรือนเป็นหลัก
2. The Time of the Doves (La plaça del Diamant) 1962
ลืมวรรณกรรมยุคหลังสงครามทั่วไปก่อน เพราะนกพิราบฝูงนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับกาตาลุญญาผ่านสายตาเด็กสาวไม่ประสีประสา
นิยายชิ้นสำคัญนี้เขียนโดยมาร์เซ รูดูเรดา Mercè Rodoreda นักเขียนพลัดถิ่นชาวกาตาลัน ในยุคหลังสงคราม แมร์เซ เคยทำงานให้กับรัฐบาลแห่งกาตาลุญญาก่อนที่จะลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ The Time of the Dove เป็นผลงานที่โดดเด่นด้านกลวิธีการเล่าเรื่องด้วยการใช้การเล่าผ่านกระแสสำนึก (stream of consciousness) เหมือนเป็นการรำพึงไปเรื่อย ๆ ผ่านมุมมองของเด็กสาวที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง ว่าง่าย ๆ คือรูดูเรดาจะพาเราเข้าไปนั่งในหัวเด็กสาวในชนชั้นสูงแห่งเมืองบาร์เซโลนา ตั้งแต่ก่อนเธอเข้าวัยผู้ใหญ่จวบจนกระทั้งเติบใหญ่ นิยายพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับตัวละครเอก คูลูเมตา Colometa ผ่านประสบการณ์ของเธอในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่ต้องก้าวผ่านความกลัว และความสับสนในตัวเองในกิจกรรมธรรมดา ๆ ประจำวัน โดยมีฉากหลังเป็นย่านกราเซีย Gracia ในเมืองบาร์เซโลนา และสงครามการเมือง นิยายไม่เพียงแต่เล่าถึงการเจริญเติบโตของเด็กสาวคนหนึ่งเท่านั้นหากแต่ได้สะท้อนการเจริญเติบโตของกาตาลุญญาภายใต้บริบทอันยากแค้นของสงครามด้วย
3. Confessions (Jo confesso) 2014
เจามะ กาเบร Jaume Cabre ถือเป็นนักเขียนกาตาลันที่มาแรงในยุคปัจจุบัน งานของเขาได้รับการแปลมาแล้วหลากหลายภาษาและผลงานอย่าง Confessions หรือคำสารภาพ ก็ได้รับการแปลเป็นภาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้เกี่ยวกับไวโอลินและอดีตอันเลวร้ายของมัน
หนังสือเล่มนี้เขียนในรูปแบบจดหมายจากอะเดรีย Adria ถึงซาร่า ผู้เป็นที่รักของเขา เส้นเรื่องกินเวลาตั้งแต่ช่วงที่สเปนเข้ามายึดครองกาตาลันจวบจนสมัยปัจจุบัน โดยอเดรียพยายามเล่าเรื่องประวัติครอบครัวของตนเองให้ Sara ฟังเพื่อทำให้เธอเข้าใจถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้ทำลงไปในชีวิต ผ่านสิ่งของอย่างไวโอลินที่รังสรรค์ขึ้นโดยช่างฝีมืออย่างลอเลนโซ สโตริโอนี Lorenzo Storioni อันมีค่ายิ่ง ซึ่งเป็นสมบัติที่พ่อผู้หมางเมินทิ้งเอาไว้ให้เขา การเดินทางของไวโอลินตัวนี้จะพานักอ่านเข้าไปสัมผัสเหตุการณ์มากมายในยุโรปไม่ว่าจะเป็นชะตากรรมของนักบวชในยุคกลาง การเข้ายึดครองดินแดน จักรวรรดิที่สามแห่งเยรมนี (The Third Reich) หรือแม้กระทั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยฉายให้เห็นด้านมืดและการต่อสู้กับด้านมืดของมนุษย์
มืดขนาดไหนลองอ่านประโยคเปิดเรื่องดูค่ะ
“It wasn’t until last night, walking along the wet streets of Vallcarca, that I finally comprehended that being born into my family had been an unforgivable mistake.”
“กระทั่งเมื่อคืนที่ผมได้เดินไปตามถนนอันเปียกปอนอย่างถนนวัลคาร์คา Vallcarca และในที่สุดผมก็ได้เข้าใจเสียทีว่าการได้เกิดในครอบครัวนี้ถือเป็นความผิดพลาดอันไม่น่าให้อภัย”
เหมือนว่าวรรณกรรมกาตาลันทั้งสามเรื่องที่ยกมาจะมีแต่ความเจ็บปวด และสงคราม ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์หนึ่งของพวกเขาได้เป็นอย่างดี การดิ้นรนภายใต้การปกครองของสเปนเพื่อสร้างชาติและความเป็นกาตาลันผ่านความเจ็บปวดและสงครามที่พวกเขาจะไม่ลืม
ที่มา:
Confessions review – Jaume Cabré’s monumental novel about the problem of evil