ไม่พบผลการค้นหา
‘นิว สิรวิชญ์’ ผู้ใช้บริการรถเมล์ฟรีรถไฟฟรีมาตลอด 9 ปี มองปัญหา ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือ ‘บัตรคนจน’ เป็นการตีตราคนด้วยแนวคิดสังคมสงเคราะห์แบบเก่า แนะมองทุกชนชั้นเป็นพลเมืองเท่าเทียมต้องการ safety net รองรับเหตุการณ์อันไม่คาดคิด 

‘นิว สิรวิชญ์’ ผู้ใช้บริการรถเมล์ฟรีรถไฟฟรีมาตลอด 9 ปี มองปัญหา ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือ ‘บัตรคนจน’ เป็นการตีตราคนด้วยแนวคิดสังคมสงเคราะห์แบบเก่า แนะมองทุกชนชั้นเป็นพลเมืองเท่าเทียมต้องการ safety net รองรับเหตุการณ์อันไม่คาดคิด 

 

Voice TV สัมภาษณ์ ‘สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์’ หรือ นิว นักกิจกรรมกลุ่ม Start Up People ว่าที่บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสที่ 1 พ.ย. 60 เป็นวันแรกที่ยุติโครงการรถเมล์และรถไฟฟรี ส่วนหนึ่งในมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2551 ในยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยโครงการนี้ขยายเวลาโครงการอย่างต่อเนื่องนานถึง 9 ปี กระทั่งปิดฉากลงในวันนี้ และมีมาตรการ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือ ‘บัตรคนจน’ เข้ามาแทนที่

 

 

-ส่วนตัวได้รับผลกระทบอย่างไรหลังรัฐบาลยกเลิกรถไฟฟรีรถเมล์ฟรีสำหรับคนทั่วไป 


ในแง่การลดค่าใช้จ่ายก็หายไป เราต้องจ่ายสิ่งเหล่านี้แบบที่เคยจ่ายก่อนจะมีโครงการเหล่านี้ช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยส่วนตัวก็ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

 

หลายคนอาจจะไม่ใช่คนยากจนแต่การได้ขึ้นรถเมล์ฟรีรถไฟฟรี ก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งลงไป 

 

-คิดว่าควรจะฟรีตั้งแต่แรกไหม 

 

ถ้าพูดในแง่การจัดสวัสดิการ การจัดรถไฟฟรีรถเมล์ฟรีเป็นการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ทำให้คนได้ประโยชน์พอสมควร เป็นการกวาดคนให้เข้ามาอยู่ในระบบที่จะได้ประโยชน์จากสวัสดิการของรัฐมากที่สุด โดยที่คุณไม่ต้องมาแสดงตัวว่าคุณเป็นคนจนหรือจนขนาดไหน
 
ถ้าคุณเป็นคนชั้นกลาง วันดีคืนดีไม่มีเงิน สวัสดิการเหล่านี้ก็สามารถเป็นที่พึ่งให้สำหรับทุกคน เพียงแต่ว่าอาจจะมีปัญหาการกระจุกตัวสำหรับคนที่อยู่ในกทม. เช่น รถขสมก. ก็วิ่งแค่ใน กทม.กับปริมณฑลนิดๆ หน่อยๆ  และรถไฟก็ไม่ได้มีทุกจังหวัด  

สำหรับคำถามว่าควรจะฟรีไหม ผมพูดตรงๆ ถ้ารัฐบาลไม่มีปัญญาจัดสวัสดิการได้ดีกว่านี้ ผมคิดว่านี่ก็คือทางออกเบื้องต้นในการที่จะให้สวัสดิการช่วยเหลือและลดค่าใช้จ่ายประชาชน ได้เกือบทุกคนทุกชนชั้นได้รับประโยชน์ตรงนี้ แล้วหลังจากนั้นค่อยไปทำวิจัยต่อว่าจะขยายต่อยังไง 

สำหรับผมนโยบายรถไฟฟรีรถเมลล์ฟรี มันดีกว่าบัตรคนจนอันนี้อยู่แล้ว 

 

-เปลี่ยนเป็นบัตรคนจน(บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) แล้วเป็นปัญหาอย่างไร 

 

เป็นปัญหาครับ เพราะคนที่ใช้บัตรคนจน คือคนที่ถูกตีตราว่า เป็นคนจน คนที่ต้องคอยรับการอุปถัมภ์จากรัฐ จะถูกบันทึกไว้ทุกอย่าง นอกจากนั้น ยังมีโอกาสตกหล่นที่จะได้ใช้บริการเหล่านี้เพราะความยุ่งยาก เช่น ยายผมต้องไปติดต่อสำนักงานเขต 3-4 ครั้ง ต้องใช้เอกสารทางการเงินตรวจสอบ ซึ่งบางทีคนจนจริงๆ ก็ไม่ได้มีเวลาต้องให้มาตรวจสอบแบบนี้  

ในขณะที่รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ไม่ต้องแสดงตัวใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงการใช้โอกาส ใช้บริการแล้วได้สวัสดิการส่วนนั้นได้เลย โดยไม่ต้องแสดงตัวว่าตัวเองจน หรือไปเสียเวลาที่สำนักงานเขตหรืออำเภอเพื่อรับสวัสดิการนี้ 

 

-ถ้าไม่มีการจำแนกคนจน จะทำให้คนที่มีเงินมาแย่งใช้ทรัพยากรหรือเปล่า 

 

ผมคิดว่าสวัสดิการมันคือของทุกคน  การที่ทุกคนสามารถใช้ได้ จะทำให้คนจนตกหล่นน้อยลงเพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึง 
 
ผมถามหน่อยว่า รัฐบาลรู้ได้ไงว่าคนจนทุกคนได้เข้ามาสู่ระบบลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคน มีอะไรการันตีไหม ซึ่งมันไม่มีแน่ๆ แล้วคนจนทุกคนก็ต้องทำงานเช้าจรดค่ำ ใครจะมีเวลาไปติดต่อสำนักงานเขตกับระบบราชการที่ซับซ้อนยุ่งยากแบบนี้ ฉะนั้น ยังไงก็แล้วแต่มันเป็นปัญหาอยู่ดี แล้วท้ายที่สุดมันไม่ได้ช่วยอย่างแท้จริง 

ผมคิดว่านี่เป็นวิธีคิดระบบจัดการสวัสดิการสังคมแบบเก่า ที่คิดว่าเราควรสงเคราะห์ให้คนจนเท่านั้นซึ่งมันไม่ใช่ เราควรจะเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เหมือนระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทุกคนมีโอกาสจะได้ ถ้าคุณไม่เอา ก็มีสิทธิที่จะไม่รับ แต่มันเป็นสิทธิที่พลเมืองไทยทุกคนมีได้ 

นี่กลับกลายเป็นว่า ใช้ระบบสังคมสงเคราะห์แบบเดิม คือคุณต้องบอกว่าคุณจนเท่านั้นถึงจะได้สวัสดิการนี้ แล้วมันกลายเป็นว่าไม่มี safety net ที่รองรับสำหรับทุกคน 

ต่อให้ไม่เป็นคนจนแต่ทุกคนมีโอกาสที่จะขาดโอกาสทางสังคม เช่น คนตกงาน ตอนแรกอาจจะมีงานทำ แต่วันดีคืนดีไม่มีงานทำ ผมเคยเจอคนหนึ่งเขาตกงาน เขาก็สามารถจะขึ้นรถเมล์ฟรีไปหางานหรือไปดำเนินการเรื่องงานของเขาได้ นี่คือ safety net ที่จะรองรับทุกคนที่มีปัญหา เป็นโอกาสให้ทุกคนได้ใช้สวัสดิการ เราต้องถอยออกจากวิธีคิดสังคมสงเคราะห์แบบเดิม 

 

– ส่วนตัวนิว สิรวิชญ์ทำบัตรคนจน (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ได้ไหม

 
ด้วยวิธีการตรวจสอบรายได้ ผมก็ทำบัตรไม่ได้ เพราะเขามีวิธีตรวจสอบบัญชี เงินห้ามเกินเท่าไหร่ ซึ่งบางทีเงินที่เข้าบัญชีผมก็ไม่ใช่เงินผม ไม่ใช่รายได้ผม แต่เป็นเงินผ่านการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ลงทุนค้าขายกับเพื่อนแล้วเพื่อนใช้บัญชีเราเป็นช่องทางให้โอนเงินเข้ามา แต่ถามว่านั่นคือรายได้เราไหม ก็ไม่ใช่ กลายเป็นว่าผมมีเงินในบัญชีเกินก็เลยไม่มีสิทธิ 

หรือใช้วิธีดูรายได้ไม่เกิน 8,000 บาท ซึ่งรัฐบาลควรใช้สามัญสำนึกว่า ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 8,000 บาท คนกลุ่มนี้จะอยู่ได้ยังไง แล้วบัตรคนจนเดือนละไม่กี่ร้อยจะช่วยเขาได้ยังไง
 
สู้จัดรถเมล์ฟรีรถไฟฟรี ที่ถ้วนหน้าแบบเดิมช่วยหว่านแห ให้ทุกคนได้โอกาสจะดีกว่า 

 

-คิดอย่างไรกรณีมีคนโพสต์ในโซเชียลมีเดีย โชว์บัตรคนจน ขณะที่มีเงินใช้จ่ายสำหรับไลฟ์สไตล์ราคาแพง 

 

ผมคิดว่าเป็นช่องว่างของนโยบายนี้ โดยหลักแล้วเขามีเงื่อนไขว่า มีเงินในบัญชีไม่เกินเท่าไหร่ มีรายได้ไม่เกินเท่าไหร่ ซึ่งนายแบบคนนั้นอาจจะมีคุณสมบัติถ้าดูจากเอกสาร เพราะบางคนอาจจะไม่ได้รับเงินผ่านตัวเอง หรือไม่ได้มีรายได้ประจำที่สามารถตรวจสอบได้ 

มีช่องว่างอยู่แล้ว ข้าราชการก็ไม่สามารถไปดูสภาพชีวิตที่แท้จริงของแต่ละคนได้ 

 

–ถ้าออกนโยบายโดยไม่มองกลุ่มเป้าหมายเป็นคนจนแล้วควรจะมองว่าเป้าหมายคือใคร

 
คือพลเมือง คือประชาชนที่ควรจะได้รับสิทธินั้นอย่างเท่ากัน อย่างถ้วนหน้า อย่างเสมอภาคโดยไม่ถูกตีตรา อย่างผมเองและครอบครัวผมเองก็เคยเป็นคนจน แต่ไม่ชอบให้ใครมาตีตราว่าเป็นคนจน แต่ถามว่ารัฐควรเข้ามาให้สวัสดิการไหม? ก็ควร แต่จะให้อย่างไรไม่ให้ถูกตีตรา และให้กับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นใด เพราะไม่ว่าชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง ชนชั้นบน ก็มีโอกาสเผชิญความสูญเสีย โดยมีนโยบายรัฐเป็น safety net รองรับจากเหตุการณ์อันไม่คาดคิด ไม่ว่าตกงานหรือเสียครอบครัว แม้ว่าจะไม่ใช่คนจนก็ตาม  

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog